จากธุรกิจแรกเริ่มอย่างโรงกลั่นน้ำมันเมื่อปี 2527 ตามด้วยธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ที่ทำให้ชื่อ“บางจาก” เป็นชื่อที่คุ้นหูผู้บริโภคมากว่า 30 ปี บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ฝ่าคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลง รับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปจากการปรับทั้งธุรกิจและวิธีคิดตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้บางจากฯ เป็นที่รู้จักในฐานะกลุ่มบริษัทผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยทุก ๆ ย่างก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นล้วนเกิดมาจากการเปลี่ยนผ่านทางความคิด ภายใต้การนำของ ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ส่งต่อสู่สมาชิกใน “บ้านบางจาก” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
บุคลิกขององค์กรที่เปลี่ยนไป แต่ยังยึดมั่นความเป็นคนดีของสังคม
“ผมเริ่มเข้ามาเป็นกรรมการของบางจากฯ เมื่อปี 2555 ก่อนรับตำแหน่งซีอีโอ ในปี 2558 สำหรับผม ภาพของบางจากฯ ในวันนั้น ดูเป็นคุณลุงผู้สูงวัยนิดๆ เป็นคนดี มีความขยัน ซื่อสัตย์ ตั้งใจทำงาน พร้อมที่จะทำอะไรต่าง ๆ ที่ขอให้ทำ พอมาเป็นซีอีโอ สิ่งที่ผมขอเติมให้เพิ่มขึ้นก็คือสิ่งที่ผมเรียกว่า Dynamism ในวันนั้น หรือที่ตอนหลังก็กลายมาเป็นคำว่า Agility คือขอให้พนักงานที่เก่งและฉลาด เพิ่มความเฉลียวเข้าไปในระบบ มีปฏิภาณไหวพริบ
ฉับไวทันเหตุการณ์” ซีอีโอบางจากฯ ย้อนนึกถึงช่วงแรก ๆ ของการรับตำแหน่ง ก่อนจะกล่าวต่อไปว่า ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เขาพยายามผลักดันมาโดยตลอดคือการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ เขาจำได้ว่าในการเสนอตั้งงบประมาณครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน เขาได้ขอตั้งงบไว้ปีหนึ่งประมาณสัก 5-10 ล้านเหรียญ เพื่อใช้ลงในธุรกิจซึ่งจะเป็นธุรกิจแห่งอนาคต หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า frontier technology แต่ในวันนั้นยังไม่มีใครรู้จักคำนี้ โดยเขาใช้คำว่า Incubator หรือ ธุรกิจที่จะไปบ่มเพาะให้เกิดธุรกิจใหม่ได้ เช่น การลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่ลิเทียม ที่กว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการพิจารณากันหลายรอบ โดยตอนเข้าไปลงทุนครั้งแรกราคาหุ้นละ 50 เซ็นต์แคนาดา และต่อมาได้ขายไปที่ราคา 30 เหรียญแคนาดาต่อหุ้น ซึ่งนอกจากจะได้รู้จักกับธุรกิจใหม่แล้ว การลงทุนครั้งนั้นได้สร้างกำไรให้บริษัทฯ ราว 4,000 กว่าล้านบาท และบางจากฯ ยังมีสิทธิ์ที่จะรับซื้อลิเทียมคาร์บอเนตปีละประมาณ 6,000 ตัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ มาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจต่อไป
“อุตสาหกรรมเปลี่ยนเร็ว สำคัญมากที่ต้องวางแผนปรับตัวเองให้เร็วกว่าอุตสาหกรรม แทนที่จะโดนโลก disrupt เราก็ disrupt ตัวเราเองให้ภายในของเราสมดุลก่อน”
จากนั้น เขาจึงได้จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ หรือ BiiC ขึ้น รองรับแผนระยะยาวสำหรับลงทุนในสตาร์ทอัพ โดยบางจากฯ นับเป็นบริษัทไทยรายแรก ๆ ที่ส่งพนักงานของ BiiC ไปทำงานที่ Silicon Valley เพื่อร่วมงานกับสตาร์ทอัพต่าง ๆ ทั่วโลกในสหรัฐฯ ทำหน้าที่เสาะหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกที่แหล่งกำเนิดหรือต้นน้ำเลย
“มาถึงวันนี้ครบ 37 ปี ก้าวสู่ปีที่ 38 ผมรู้สึกว่าบางจากฯ ดูเป็นคนที่หนุ่มขึ้น พร้อมเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก หรือ ก้าวนำเทรนด์โดยรับความเสี่ยงบางส่วนได้ ถ้าเป็นคนก็คือเริ่มมีครอบครัว แตกราก สร้างฐานมั่นคง มีความหลากหลาย มีสมาชิกในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าสีเขียว ธุรกิจชีวภาพ และอื่น ๆ”
รู้และเข้าใจในสิ่งที่ทำ ปรับเปลี่ยนเมื่อจำเป็น
หนึ่งในความตั้งใจแรกๆ ของเขากับหน้าที่ผู้นำของบางจากฯ นั้น ชัยวัฒน์ตั้งใจว่าบางจากฯ ต้องมีลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็นวัยรุ่นมากขึ้น ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้ได้ ทำให้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพให้ดูทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาของสถานีบริการ หรืออาคารสำนักงาน ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมขององค์กรและวิธีการทำงานก็เสริมการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และให้พนักงานมีส่วนร่วมในการสร้างธุรกิจของบริษัทฯ เขาภูมิใจมากเมื่อได้เห็นพนักงานบางจากฯ นำวิชา Design Thinking จากการอบรมของบริษัทฯ ไปต่อยอดจนเกิดเป็น Winnonie สตาร์ทอัพภายในบริษัท โดยการสนับสนุนของผู้บริหาร ซึ่งในวันนี้ Winnonie น่าจะเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ที่โดดเด่นที่สุด
“จริง ๆ แล้ว Transformation หรือการปรับเปลี่ยนไม่น่าจะแค่เกี่ยวกับรายได้ของธุรกิจ แต่เป็นวิธีการคิด วิธีการทำงาน ผมบอกเสมอว่า สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องมีความอยากรู้ อยากเข้าใจว่าตัวเองทำอะไรอยู่ รู้ว่าเราทำตรงนี้เพราะอะไร ถามตัวเองก่อนว่าสมัยนั้นเข้าใจและทำแบบนั้น แล้วสมัยนี้ยังเหมาะหรือต้องทำอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า ถ้าเราพยายามเข้าใจให้ลึกซึ้งว่ามันเกิดอะไรขึ้น จะนำมาต่อยอดได้ง่าย และต้องหมั่นขวนขวาย ศึกษา เข้าใจ และหาคำตอบที่ดีที่สุด แล้ววิธีคิดวิธีการทำงานของเราก็จะเปลี่ยน สามารถรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้”
ชัยวัฒน์เน้นว่า การเปลี่ยนผ่านวิธีคิดในองค์กรไม่มี One size fits all ไม่มีอะไรที่ใช้แล้วก็ปรับใช้ได้หมด เพราะแต่ละธุรกิจ แต่ละงานมีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน BiiC ต้องคิดนอกกรอบ การตลาดต้องเน้นคิดใหม่ทำใหม่ แต่โรงกลั่นก็ต้องทำตามขั้นตอน คงไม่เหมาะสมที่จะมุ่งเน้นคิดนอกกรอบมากจนเกินไป ต้องปรับใช้ให้มีระดับที่เหมาะสมกับงานที่ทำ
เปิดรับ เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ อย่าเชื่อง่าย ตรวจสอบข้อเท็จจริง
เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่คนใกล้ชิดและพนักงานในบริษัทฯ ว่าชัยวัฒน์เป็นคนชอบอ่าน ชอบเรียนรู้ นอกจากการแบ่งปันเรื่องราวน่าสนใจให้ผู้บริหารและพนักงานเมื่อโอกาสอำนวยแล้ว ทุก ๆ เดือนเขาจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมล้ำสมัยมาเล่าสู่กันฟังผ่านคอลัมน์ “Everlasting Economy” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ เขาบอกว่าคนรุ่นใหม่โชคดี มีโอกาสเรียนรู้เยอะมาก ง่ายกว่าเมื่อก่อนที่จะทำอะไรต้องไปเข้าห้องสมุด ตอนนี้ทุกอย่างหาในอินเทอร์เน็ตได้หมด ดังนั้น สิ่งที่เขาอยากฝากไว้คือ อย่าให้กลายเป็นว่าได้รับข้อมูลอะไรมาแล้วรับหมด รับแล้วก็ต้องมาตรวจสอบ ใช้ Google ก็ได้ อย่างน้อย ๆ ก็โยนกลับเข้าไปในอินเทอร์เน็ต ความอยากรู้อยากเห็นนี่แหละ ที่จะช่วยให้รู้ว่าบางอย่าง too good to be true ไหม อะไรที่มันไม่น่าเป็นไปได้ ก็คือไม่น่าเป็นไปได้ การตรวจสอบ ขวนขวาย เรียนรู้จึงสำคัญ
“ช่วงหลัง ๆ มา มีแนวคิดหนึ่งที่มักพูดกันบ่อย ๆ คือ Reverse Mentoring คนเราพออายุเยอะขึ้น บางทีก็คิดว่ารู้ทุกอย่างในโลก แต่จริง ๆ คือ เรารู้น้อยลง บางอย่างที่เคยรู้ก็ล้าสมัยไปบ้าง อย่ากลัวที่จะเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ๆ ต้องพยายามคุยกับเด็ก ๆ ผมเองก็ให้ลูกสอนผมอยู่บ่อย ๆ หรือในห้องประชุม เวลาทำงาน อันไหนไม่รู้ก็ถาม ที่เรามีคือประสบการณ์กับ logic ส่วนเขามีความรู้ มีไอเดีย อาจจะไม่ “ใช่” ทั้งหมด 100% แต่ก็ต้องมีส่วนที่ “ใช่” อยู่บ้าง พอเราถาม เราคุย เปิดกว้างรับฟัง เราจะได้ไอเดียใหม่ ๆ เพราะโลกเปลี่ยนไป นำสิ่งที่ “ใช่” จากเด็ก ๆ รุ่นใหม่ มาต่อยอด มาปรับใช้” ซีอีโอของบางจากฯ กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนา
เพราะเหรียญมีสองด้าน “ความอยากรู้อยากเห็น” ก็เช่นกัน หากรู้จักนำมาใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง ย่อมกลายเป็นพลังที่ช่วยให้วิธีคิดของเราเปลี่ยน เพื่อใช้กับทั้งการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจในโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วรอบ ๆ ตัวเรา