กรมอนามัย เผย 10 มาตรการเข้มคืนลอยกระทง ลดเสี่ยงโควิด-19

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำประชาชน และผู้เตรียมจัดงานเทศกาลลอยกระทง เข้ม 10 มาตรการ กระทรวงสาธารณสุข ลดเสี่ยงโควิด-19 พร้อมแนะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ลอยกระทงแบบออนไลน์แทน

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เทศกาลการจัดงานประเพณีลอยกระทง ตามสถานที่ต่าง ๆ จะทำให้มีการรวมตัวของกลุ่มคนเป็นจำนวนมากและใกล้ชิดกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของ โควิด-19 ได้ จึงขอให้ผู้จัดงานปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

1) กำหนดจุดเข้า-ออก มีการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากงาน มีจุดคัดกรองอุณหภูมิ และตรวจสอบความเสี่ยงก่อนเข้างาน

2) เลือกสถานที่จัดงานที่มีการระบายอากาศที่ดี ไม่แออัด

3) ทำความสะอาดห้องน้ำทุก 1 ชั่วโมง รวมทั้งจัดให้มีจุดล้างมือที่เพียงพอ

4) เว้นระยะห่างของบูท ร้านค้า โต๊ะ ที่นั่ง อย่างน้อย 1 เมตร

5) กระจายจุดลอยกระทง และมีผู้ควบคุมไม่ให้แออัด

6) หากมีการจัดการแสดงมหรสพ หรือการละเล่นตามประเพณี ประกวดนางนพมาศ ให้เว้นระยะห่างของผู้เข้าชมจากเวทีอย่างน้อย 5 เมตร รวมถึงจัดให้มีอุปกรณ์ส่วนตัวสำหรับนักแสดง นักดนตรี พิธีกร นางนพมาศ และเว้นระยะห่างในห้องพักอย่างน้อย 1 เมตร และงดกิจกรรมที่ไร้ระเบียบ เช่น จับมือ ตะโกน รวมกลุ่มหน้าเวที

7) แผงลอยหรือพาหนะสำหรับจำหน่ายอาหาร ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดสำหรับพื้นที่จัดบริการอาหารริมบาทวิถี (Street Food) งดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

8) ผู้จัดงาน ผู้ค้าขายอาหาร นักแสดง ควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK ไม่พบเชื้อก่อนวันจัดงานอย่างน้อย 72 ชั่วโมง สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา กำหนดโซน เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น และงดการรวมกลุ่ม

9) ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอื่นอย่างน้อย 1 เมตร และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสจุดสัมผัสร่วม

10) ผู้จัดงาน ต้องมีการกำกับการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนที่ลอยกระทงนอกบ้าน ควรเลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำ เช่น กระทงขนมปัง กระทงกรวยไอศกรีม ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลา กระทงหยวกกล้วย เหมาะกับแหล่งน้ำที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น นำไปหมักทำปุ๋ย เลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยาก และเป็นขยะในแหล่งน้ำได้ นอกจากนี้ ควรลดขนาดกระทงให้เล็ก เพราะใช้วัสดุน้อยกว่า หากมาเป็นครอบครัว กลุ่มเพื่อน มาเป็นคู่หรือมากับแฟน ให้ใช้ 1 กระทงลอยร่วมกัน ที่สำคัญ ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังบุตรหลานไม่ให้คลาดสายตา เพราะอาจพลัดหลงหรือตกน้ำได้ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย และบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามปล่อยโคมลอย งดเล่นดอกไม้ไฟ พลุ ประทัด รณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า เป็นต้น

​“ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้สูงอายุ ขอแนะนำให้เลือกใช้การลอยกระทงแบบออนไลน์ภายในบ้านหรือที่พักอาศัยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อลดการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 ลดความแออัด และช่วยลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งในทุก ๆ ปี เมื่อผ่านคืนวันลอยกระทง สิ่งที่ตามมาคือ ซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ ในปี 2563 เฉพาะในกรุงเทพมหานคร 492,537 ใบ โดยเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 474,806 ใบ หรือร้อยละ 96.4 และกระทงโฟม 17,731 ใบ ร้อยละ 3.6” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
กรมอนามัย/ 4 พฤศจิกายน 2564