การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชากรทุกกลุ่มในประเทศ ทั้งนี้ครอบคลุมถึงประชากรข้ามชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานชาวกัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยแรงงานเหล่านี้กระจายตัวอยู่แทบทุกจังหวัดในประเทศไทย และนับเป็นกลุ่มสำคัญหนึ่งของคลัสเตอร์การระบาดโควิด-19 ในระลอกที่ผ่านมา ทั้งนี้ประเทศไทยมีประชากรข้ามชาติชาวกัมพูชา ลาว เมียนมา จำนวน 3,010,015 คน
จากรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกลุ่มประชากรข้ามชาติ เดือนสิงหาคม 2564 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แผนงานประชากรข้ามชาติ ภายใต้แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก พบว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2563 จนถึงวันที่ 20 ส.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อสะสมรวม 1,009,710 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่มีสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และไม่ระบุสัญชาติ จำนวน 109,422 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.8 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด โดยพบผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นชาวเมียนมา ในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 จากการติดเชื้อในสถานบันเทิง การเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีแรงงานข้ามชาติบางส่วนเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนา แต่ส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในประเทศโดยพักอาศัยอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นประชากรข้ามชาติ จำนวน 565 ราย เดือน พ.ค. 2564 จำนวน 15,163 ราย ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า25 เท่า ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน และมีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นประชากรข้ามชาติถึง 30,385 ราย ซึ่งสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังที่รัฐบาลประกาศให้สถานประกอบการต่างๆ ปิดกิจการชั่วคราว และกำหนดให้มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ประชากรข้ามชาติในไทย-ฉีดวัคซีนแล้ว แค่ไหน?
การฉีดวัคซีนให้กับทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศ นับเป็นแนวคิดสากลที่ทุกประเทศควรดำเนินการให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งจากข้อมูลของกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนการได้รับวัคซีนของประชากรที่ไม่ใช่คนไทย (ซึ่งรวมทั้งวัคซีนทางเลือก) สรุปได้ดังนี้
ขณะที่ สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ได้รายงานจำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ได้รับวัคซีน ตั้งแต่ ก.พ. – ส.ค. 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 356,337 คน และได้รับวัคซีนครบสองเข็ม จำนวน 107,106 คน โดยสัญชาติที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดได้แก่เมียนมา จำนวน 178,531 คน รองลงมาได้แก่ กัมพูชา จำนวน 56,580 คน ทั้งนี้ข้อมูลจากทั้งสองแหล่ง แสดงจำนวนที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก จากการวิเคราะห์เบื้องต้น เป็นผลมาจาก ผู้ได้รับวัคซีนจากภาคเอกชน หรือในระบบประกันสังคมบางส่วน ไม่ได้ลงทะเบียนในระบบ MoPH Immunization center ของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงยังมีชาวต่างชาติอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับวัคซีนภายใต้สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในประเทศไทย
ทางรอดสำคัญในวันเปิดประเทศ กับมาตรการที่ต้องการการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ดร.สุรสักย์ ธไนศวรรยางกูร นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาและเป็นแนวปฏิบัติสำคัญของเรื่องนี้ไว้ว่า “ในวันนี้ ประเทศไทยมีการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ โดยเปิดให้ชาวต่างชาติถึง 63 ประเทศสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว รวมทั้งสถานประกอบการสามารถเปิดดำเนินการได้ แต่ขณะที่จำนวนการฉีดวัคซีนรวมทั้งระบบการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ในประชากรข้ามชาติยังขาดความครอบคลุม โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ประกอบอาชีพก่อสร้าง และทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ดังนั้นการกำกับให้สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในวันเปิดประเทศที่มีปัจจัยมากมายที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำ โดยมาตรการต่างๆที่กลับมามีความสำคัญอย่างมากไม่ว่าจะเป็น การเร่งฉีดวัคซีนและจัดหาชุดตรวจให้กับแรงงาน จัดระบบแยกตัวและให้การช่วยเหลือเร่งด่วนด้านรักษาพยาบาลแก่แรงงานเมื่อตรวจพบเชื้อ จัดหาอุปกรณ์การป้องกันและเน้นย้ำพฤติกรรมการป้องกันการแพร่ระบาด เป็นต้น”
มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดของสถานประกอบการ
(ข้อเสนอจากรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกลุ่มประชากรข้ามชาติ เดือนสิงหาคม 2564)
1.การจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19
2.การจัดหาวัคซีนให้กับพนักงาน/แรงงาน
3.การเน้นย้ำให้พนักงานปฏิบัติพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
4.ตรวจสอบและจัดทำบัญชีรายชื่อของพนักงานให้เป็นปัจจุบัน ทั้งที่อยู่ในความดูแลของบริษัทและผู้รับเหมารายย่อย
5.จัดระบบการให้การช่วยเหลือด้านรักษาพยาบาลแก่พนักงานเมื่อตรวจพบว่ามีอาการที่สัมพันธ์กับโรคโควิด-19 ทั้งพนักงานที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมและไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆ
6.จัดหาอุปกรณ์การป้องกันให้กับพนักงานอย่างเพียงพอ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ฯลฯ
7.ปรับปรุงอาคารที่พักของพนักงานให้ถูกหลักสุขาภิบาล
8.มีระบบการทำลายขยะติดเชื้อและของเสียในบริเวณสถานประกอบการและที่พักของพนักงาน
9.มีการคัดแยกพนักงานที่ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการ ออกจากพนักงานทั่วไป และย้ายไปอยู่ในสถานที่แยกกักตัวในบริเวณสถานประกอบการหรือที่พักของพนักงาน
10.ควรปรับปรุงการวิเคราะห์และการนำเสนอรายงานจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างครบถ้วน โดยนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ระบบ MoPH Immunization center ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการประเมินความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนในแรงงานข้ามชาติ และการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในสถานประกอบการ
-รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกลุ่มประชากรข้ามชาติ เดือนสิงหาคม 2564, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แผนงานประชากรข้ามชาติ ภายใต้แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก