กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะกินทุเรียนแต่พอดีไม่เกิน 2 เม็ดต่อวัน ย้ำ ผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจควรระวังการกินทุเรียน ไม่กินมากเกิน ไม่ควรกินถี่ทุกวัน โดยเฉพาะโรคไตควรเลี่ยง หวั่นเสี่ยงทำอาการทรุด
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ทุเรียนจัดอยู่ในอาหารกลุ่มผลไม้ที่ให้วิตามินแร่ธาตุที่ดี และเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตแต่ก็เป็นผลไม้ที่กินแล้วร้อนภายในร่างกาย การกินทุเรียน 1 เม็ดขนาดกลางให้น้ำตาล 18 กรัม พลังงาน 60 กิโลแคลอรี เทียบกับพลังงานในข้าวเกือบทัพพี ควรกินไม่เกิน 2 เม็ดต่อวันและไม่กินถี่ทุกวันเพราะอาจส่งผลให้ น้ำหนักเกิน ร้อนใน เจ็บคอ และที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรกินทุเรียนพร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะทำให้ร่างกายเกิดความร้อนสูง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เพราะการกินของทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน จะมีผลทำให้เอนไซม์กำจัดสารพิษที่ได้จากกระบวนการเผาผลาญแอลกอฮอล์ลดลง และทำให้เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียนและอาเจียน ทั้งนี้ มีข้อแนะนำให้กินทุเรียนกับมังคุดเพราะในมังคุดมีสารต้านการอักเสบช่วยแก้เรื่องร้อนในและยังมีน้ำในปริมาณมากการกินทุเรียนกับมังคุดจึงเข้ากันดีมีใยอาหารสูงแต่ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำตาลที่แฝงมาในผลไม้ ซึ่งในวันที่กินทุเรียนควรควบคุมอาหารประเภทข้าว แป้ง ขนมหวานควบคู่ไปด้วย เช่น กินทุเรียนแล้ว ก็ไม่ต้องซ้ำด้วยของหวานอื่น หรือถ้าจะกินทุเรียนวันนี้ก็ไม่ควรกินข้าวแป้งมากเกินไป รวมถึงไม่ควรกินข้าวเหนียวทุเรียนบ่อยเนื่องจากมีความหวานมัน
“สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเป็นโรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน ควรระวังเป็นพิเศษ หากกินทุเรียนมากเกินไปอาจทำให้อาการเสี่ยงทรุดได้เพราะในทุเรียนทั้งหวานทั้งมันมีแป้งและน้ำตาลสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน ต้องคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดควรกินทุเรียนแต่พอเหมาะ ไม่กินในปริมาณมากและไม่กินถี่ทุกวัน กล่าวคือ กินไม่เกิน 1 เม็ดเล็กต่อวัน นอกจากนี้ ทุเรียนยังเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินได้เท่าคนปกติ ผู้ป่วยโรคไต จึงควรเลี่ยงเพราะจะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และยังต้องระมัดระวังในการกินทุเรียนแปรรูป อาทิ ทุเรียนกวน ทุเรียนทอด ทุเรียนเผา เป็นต้น เนื่องจากมีน้ำตาลสูงมากกว่าทุเรียนสด”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว