อีกหนึ่งสีสันของการแข่งขันประลองภูมิปัญญาของนักศึกษาสายพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คือ การแข่งขันแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ (business case competition) ซึ่งเป็นการนำโจทย์จริง ปัญหาจริงของบริษัท และอุตสาหกรรมต่างๆ มาให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์และหาทางแก้ไข
ล่าสุดกับการแข่งขันระดับนานาชาติ Australian Undergraduate Business Case Competition 2021 (AUBCC 2021) ที่จัดโดย University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมี 16 ทีม จาก 9 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา สิงคโปร์ ฮ่องกง เซอเบียร์ ฮังการี ไอร์แอนด์ และไทย โดยทีม Little Ripper จาก BBA Thammasat ตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลชนะเลิศ Tiktok Challenge มาครองได้ นอกจากนี้ น.ส.เนื้อแพร ดวงศรี สมาชิกในทีมยังได้รับรางวัล Best Speaker ด้วย
ทีม Little Ripper ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาปีที่ 4 จากโครงการปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ประกอบด้วย น.ส.เนื้อแพร สาขาการบัญชี น.ส.นันทิชา จิรัฐพิกาลพงศ์ สาขาการบัญชี น.ส.สริตา วิภาสดำรงกุล สาขาการบัญชี และ น.ส.มณิภา มหัทธนากร สาขาการเงิน
น.ส.มณิภา เล่าว่า รู้จักการแข่งขันนี้เนื่องจากเป็นเวทีระดับนานาชาติ และรุ่นพี่ได้เข้าร่วมการแข่งขันทุกปี ดังนั้นเมื่อ AUBCC ผู้จัดการแข่งขันได้เชิญให้ BBA Thammasat เข้าร่วมการแข่งขัน เราจึงสนใจและได้จัดตั้งทีมเพื่อเข้าร่วมในครั้งนี้
สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 การแข่งขันย่อย ได้แก่ 1. เคสระยะสั้น โดยให้เสนอไอเดียที่จะช่วยเสริมวัฒนธรรมในองค์กรในยุคแห่งการทำงานแบบใหม่ Future of Work ในเวลา 3 ชั่วโมง ภายใต้ PowerPoint 3 สไลด์ 2. เคสระยะยาว โดยจะทำยังไงให้แพลทฟอร์ม TikTok สามารถขยายฐานผู้ใช้งาน และการยอมรับ โดยที่สร้างประโยชน์ให้ทั้งแก่ TikTok และประเทศออสเตรเลีย โดยมีเวลาให้ทำภายใน 12 ชั่วโมง
ทั้งนี้ การแข่งขันนี้จะใช้วิธีการเก็บคะแนนในแต่ละรอบ ทีมที่ได้คะแนนรวมของแต่ละ Division มากที่สุด จะเข้าไปแข่งกันต่อในรอบสุดท้ายโดยใช้เคสระยะยาวมานำเสนอ
น.ส.เนื้อแพร บอกว่า ความพิเศษของการจัดแข่งขัน AUBCC 2021 นอกจากจะจัดการแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ยังเป็นการจัดการแข่งขันที่เน้นเรื่องการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านนวัตกรรม หรืออินโนเวทีฟมากขึ้น โดยโจทย์ของปีนี้ คือจะทำอย่างไรเพื่อทำให้แพลตฟอร์ม TikTok ในออสเตรเลียมีผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งทีม Little Ripper พบว่า TikTok ไม่ได้ให้แค่ความบันเทิง แต่ให้ความรู้ทั่วไปด้วย จึงได้นำประเด็นนี้มาเป็นจุดขายที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้มาใช้งานเพิ่มขึ้น
“เรามีเวลาเตรียมตัวไม่มาก ทำให้ต้องซ้อมหนักทุกวัน แต่ละคนแบ่งหน้าที่กันชัดเจน กำหนดตารางซ้อม ที่สำคัญคือการย้อนดูรายการแข่งขันเก่าๆ ของรายการนี้ และอีกส่วนหนึ่งคือการแบ่งหน้าที่ไปหาข้อมูลต่างๆ ของประเทศออสเตรเลีย เพื่อหากลยุทธ์ที่สามารถตอบโจทย์ตลาดออสเตรเลียได้” น.ส.เนื้อแพร เล่า
เธอ บอกว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลจากการประกวด เพราะรู้สึกว่าความตั้งใจทั้งหมด รวมถึงประสบการณ์การพรีเซ็นต์ที่สะสมมาได้ใช้ประโยชน์จริงๆ แต่ความรู้สึกที่ดีใจมากที่สุดคือการที่ทำให้ชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา ได้มีโอกาสขึ้นไปอยู่บนหน้าจอแสดงผลรางวัลถึง 3 ครั้ง ทั้ง ชนะอันดับ 3 Best Speaker และ TikTok Challenge การอยู่บน Top Rank ทำให้คนอื่นได้รู้จักมหาวิทยาลัยของเรามากขึ้น
สำหรับจุดแข็งของทีมที่ทำให้ได้รับรางวัลในครั้งนี้ น.ส.เนื้อแพร มองว่าเป็นเพราะทำงานร่วมกันได้ดี แต่ละคนมีความสามารถถนัดคนละด้าน เมื่อรวมกันแล้วทำให้ทีมแข็งขึ้นมาได้ นอกจากนี้ทุกคนอยู่ในเคสทีมของ BBA Thammasat Case Club เคยผ่านการแข่งขันและได้รับรางวัลมาหลายรายการ มีประสบการณ์ในการแข่งเคสสั้น ใช้เวลาเตรียมตัวไม่นานได้
“การแข่งขันเหมือนกับการได้ทดลอง ได้เรียนรู้ตัวตน รู้ว่าเราถนัด เราชอบแบบไหน ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด นำไปปรับปรุง” น.ส.เนื้อแพร กล่าว
ด้าน น.ส.สริตา บอกว่า การแข่งขันเป็นการประกอบกันของหลายๆ วิชาที่เรียน โดยวิชาที่สำคัญมีทั้งการตลาด การเงิน และบัญชี ซึ่งได้นำมาประยุกต์เป็นมุมมองที่เข้ากับความเป็นจริงมากขึ้น นอกจากรายวิชาแล้ว ทักษะการนำเสนอก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญกับการแข่งมาก การได้รับการฝึกฝนจากในชั้นเรียนที่คณะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นในการนำเสนอในการแข่งขัน
“สิ่งสำคัญที่ทำให้ทีมทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพคือทีมเวิร์ค และการจัดการเวลาที่ดี สมาชิกในทีมได้มีการคุยกันอย่างเปิดใจในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างกันด้วย” น.ส.สริตา ระบุ
ทางด้าน น.ส.นันทิชา บอกว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขันมีหลักๆ คือ
1. การใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีเวลาน้อยในการเตรียมตัว จึงต้องซ้อนอย่างมุ่งเป้า ฝึกเฉพาะจุดที่ยังไม่มั่นใจ ปรับเปลี่ยนแผนการซ้อมตาม performance
2. ทีมเวิร์ค โดยการพัฒนาการทำงานเป็นทีมที่สามารถสนับสนุนกันได้ในเวลาทำเคส และสร้างบรรยากาศที่สนุกในเวลาเดียวกัน
3. การเรียนรู้จากคนอื่น ซึ่งเราได้เรียนรู้วิธีคิดจากการดูการนำเสนอของ Finalists ทีมอื่นๆ และได้เรียนรู้วิธีการจัดการงาน ที่สามารถนำบางอย่างที่ทีมผู้จัดทำได้ดีมาใช้ได้ในอนาคต
“ขอบคุณทางคณะฯ และโครงการ BBA ที่ให้โอกาสพวกเราไปแข่งขันในงานนี้ ขอบคุณ อ.ศุภวัตร ลิขิตธนวงศ์ ที่ปรึกษาของ BBA Thammasat Case club ที่ช่วยให้คำแนะนำให้ฟีดแบค ทำให้ทีมสามารถพัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ขอบคุณพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ในเคสทีมที่เข้ามาช่วยดูการซ้อมและให้คำแนะนำ รวมถึงเพื่อนรอบตัวและคนในครอบครัวของพวกเราที่ให้กำลังใจและเข้าใจในตารางการซ้อมแน่นๆ ของทีม สุดท้ายคือขอบคุณพวกเราทั้ง 4 คนที่ตั้งใจซ้อมและพยายามทำเต็มที่ คอยสร้างบรรยากาศตลกๆ และคุยเล่นกันตอนทำเคสทำให้เป็นการทำงานที่ไม่เครียดเลย” น.ส.นันทิชา ระบุ