เพิ่มประสิทธิภาพโครงการทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา พร้อมปรับรูปแบบใหม่นำร่อง 1 ถนน 1 เขต ดีเดย์ 15 พ.ย.นี้

(2 พ.ย. 64) เวลา 13.30 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการดำเนินการปรับรูปแบบการปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอยให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา ในพื้นที่ 50 เขต ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายโกสิน เทศวงษ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ 50 สำนักงานเขต ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายให้สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานเขต และสำนักเทศกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา เพื่อลดปัญหาประชาชน ทิ้งขยะนอกบริเวณที่จัดไว้ให้ และนำขยะออกมาทิ้งไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด ส่งผลให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่เรียบร้อย สำนักสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการพิจารณาแนวทางปรับปรุงรูปแบบโครงการ แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ประกอบด้วย

รูปแบบที่ 1 ติดตั้งป้ายประกาศกำหนดจุดทิ้งสถานที่ เวลาทิ้งมูลฝอย พร้อมตั้งวางถังขยะแยกประเภท 2 ประเภท บริเวณที่กำหนด

รูปแบบที่ 2 ติดตั้งป้ายประกาศกำหนดจุดทิ้ง/สถานที่ เวลาทิ้งมูลฝอยไม่ตั้งวางตั้งถังขยะ

รูปแบบที่ 3 ติดตั้งป้ายประกาศกำหนดจุดทิ้ง/สถานที่ เวลาทิ้งมูลฝอย ตั้งวางถังขยะสำหรับคนเดินเท้า เฉพาะบริเวณป้ายรถเมล์ หรือสถานีรถไฟฟ้า ขนาดใหญ่

รูปแบบที่ 4 ไม่ติดตั้งป้ายประกาศ ไม่ตั้งวางถังขยะ เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่นำไปทดลองใช้ทดลองในถนนในพื้นที่เขตบางพลัด ราชเทวี ประเวศ และสวนหลวง ผลการทดลอง พบว่า รูปแบบที่ 2, 3 มีความเหมาะสมกับพื้นที่ชั้นในและย่านพาณิชยกรรมในพื้นที่เขตชั้นนอก เนื่องจากไม่พบปัญหาประชาชนนำมูลฝอยมาทิ้งในถังรองรับมูลฝอยตลอดเวลา ไม่พบปัญหามูลฝอยล้นถัง ประชาชน ผู้ค้าสามารถปรับตัวทิ้งมูลฝอย ในเวลากำหนด ไม่มีการทิ้งนอกเวลา และทางเท้ามีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น ซึ่งได้นำเสนอผลการทดลองและรูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ให้คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้พิจารณาในเบื้องต้นแล้ว

สำหรับในระยะต่อไปให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต พิจารณาเลือกรูปแบบโครงการฯ ซึ่งได้ปรับปรุงใหม่ไปทดลองใช้ในพื้นที่ โดยพิจารณาคัดเลือกถนนนำร่อง 1 ถนน 1 เขต กำหนดจุดพักมูลฝอยบนทางเท้าเฉพาะอาคารที่มีขยะไม่เกิน 2 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาการดำเนินการ 15 พ.ย. 64 – 31 ม.ค. 65 เพื่อให้เห็นภาพการดำเนินโครงการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ถนนแต่ละสายในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความแตกต่างทั้งด้านกายภาพ บริบทของผู้ค้า ที่พักอาศัยของประชาชน และความหนาแน่นของประชากร จึงจำเป็นต้องใช้รูปแบบโครงการที่แตกต่างกัน สำหรับถนนที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันหลายเขต ให้สำนักงานเขตพื้นที่ ร่วมพิจารณาใช้รูปแบบเดียวกันตลอดทั้งสาย เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน และเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ เข้าใจ โดยเน้นให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหา
—————–