สศก. เยือนญี่ปุ่น รุกแผน AFSIS ต่อเนื่อง พร้อมหารือผู้ประกอบการ สำรวจความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรไทย

นายฉันทานนท์  วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมหารือการดำเนินโครงการระบบสารสนเทศเพื่อความมั่นคงด้านอาหารแห่งภาคพื้นอาเซียน (ASEAN Food Security Information System : AFSIS)  ระยะใหม่ในปี 2562 ระหว่างวันที่ 23 – 25 มกราคม 2562 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น มีผู้อำนวยการกองแผนงานสถิติ กรมสถิติ  (Mr. Kenichiro Kakihara) และรองผู้อำนวยการกองแผนงานสถิติ (Mr. Yasuhiro Miyake) เป็นผู้แทนเข้าร่วมหารือ

การหารือเกี่ยวกับโครงการ AFSIS ในครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้รายงานผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 – 2561) ทั้งการจัดทำและเผยแพร่รายงานสารสนเทศความมั่นคงด้านอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ รายงานแนวโน้มสินค้าเกษตร (Agricultural Commodity Outlook) และรายงานข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning Information) ตลอดจนได้มีการปรับปรุงฐานข้อมูลเดิมให้ทันสมัย และทยอยเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ AFSIS แล้ว โดยคาดการณ์ว่าเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

นอกจากนี้ AFSIS ยังได้ริเริ่มสร้างระบบการรายงานข้อมูลของประเทศสมาชิกผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการปรับปรุงข้อมูลได้เองทันที พร้อมดำเนินงานโครงการ Improving statistic data on food processing and Distribution related to Agricultural crops in ASEAN Region (ISFAS Project) ซึ่งเป็นการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับห่วงโซ่อาหารของประเทศอาเซียน 8 ประเทศ  ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมษายน 2559 โดยโครงการจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2562

สำหรับทางกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น ได้นำเสนอร่างโครงการส่งเสริมการสำรวจภาคการเกษตรเพื่อความยั่งยืนของภาคการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน หรือ (Zero Draft) Supporting Agricultural Survey on Promoting Sustainable Agriculture in ASEAN Region ซึ่งเน้นการสำรวจต้นทุนในประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา โดยอ้างอิงตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ในส่วนของพื้นที่การเกษตร ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่ง สศก. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล สำนักงานเลขานุการ AFSIS พร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือกับทางญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ซึ่งโครงการภายใต้ AFSIS เป็นโครงการระยะสั้น ดังนั้น ไทยและญี่ปุ่นจึงควรเร่งวางแผนโครงการในระยะต่อไปให้มีความต่อเนื่องทั้งระบบ เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์มากที่สุดรวมถึงประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุน อีกทั้งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเกษตร ข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญในการจัดทำนโยบายต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนทางเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยไทยและญี่ปุ่นต่างให้ความสนใจและพร้อมดำเนินการร่วมกันทั้งด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริงในระยะยาว

โอกาสนี้ สศก. ยังได้ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร และหารือแนวโน้มความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรกับทางบริษัทค้าปลีกญี่ปุ่น ที่นำเข้าผัก ผลไม้ของไทย พบว่า ส่วนใหญ่สินค้าเกษตรที่นำเข้าจากไทย ได้แก่ ได้แก่ หอมหัวใหญ่ ไก่สด และสินค้าประมง โดยหอมหัวใหญ่จะนำเข้าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม เนื่องจากฤดูหนาวของญี่ปุ่นไม่มีผลผลิตหอมหัวใหญ่ออกสู่ตลาด สำหรับไก่สดและสินค้าประมงจะนำเข้าตลอดปี และในอนาคตจะเพิ่มการนำเข้าขิงอีกด้วย ซึ่งการนำเข้าหอมหัวใหญ่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม นับเป็นผลดีกับไทย เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงผลผลิตหอมหัวใหญ่ไทยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เป็นช่วงหอมหัวใหญ่ของญี่ปุ่นขาดตลาด จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะเร่งผลักดันการส่งออกหอมหัวใหญ่ไปตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น รวมไปถึงผลักดันการส่งออก ขิง ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ตลาดญี่ปุ่นให้ความสนใจ โดยการส่งออกจะต้องควบคุมมาตรฐานผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากการหารือกับตัวแทนผู้ประกอบการญี่ปุ่น พบว่า มีความสนใจนำเข้าสินค้าเกษตรไทยเพิ่มเติมอีก โดยเฉพาะในส่วนของผลไม้ อาทิ กล้วยหอม และมะม่วง รวมถึงผลไม้สดอื่นๆ ที่ได้คุณภาพและเป็นที่นิยม

***********************************

ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์

 ข้อมูล : สำนักงานเลขานุการ AFSIS และกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ