วันที่ 30 – 31 ตุลาคม 2564 : งานประชุมการปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (EPI: Ending Pandemics through Innovation)” ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.), กระทรวงแรงงาน (รง.) และ กระทรวงการคลัง (กค.) ผนึกพลังร่วมปฏิรูประบบสาธารณสุข เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (EPI: Ending Pandemics through Innovation) โดยร่วมจัดประชุมเพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มเครือข่ายในการปฏิรูประบบและเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงร่วมจัดทำแนวทางในการพัฒนาและขับเคลื่อนแผนงานการปฏิรูประบบ และเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขของประเทศ สอดรับนโยบายการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลสุขภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย การรักษาและการบริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการและการรักษา อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต โดยนำนวัตกรรมและผลงานวิจัยที่มีอยู่มาใช้ปฏิบัติอย่างทันท่วงทีภายใต้บริบทของประเทศไทย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เข้ามาช่วย กระทรวง สธ. ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการบริการและนวัตกรรมต่างๆ อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคณะแพทยศาสตร์ อาจารย์จากโรงเรียนแพทย์ จากกระทรวง อว. ที่เข้ามาร่วมทำงานกับกรมควบคุมโรค ในการวางแผนการรับมือสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาอย่างแข็งขัน การร่วมกันในการพัฒนาวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การพัฒนาแพลตฟอร์มในการเชื่อมต่อระบบต่างๆ เพื่อช่วยการบริหารจัดการผู้ป่วยช่วงโควิด-19 ด้วยระบบ Co-link จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”
“กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนาทั้งการป้องกัน ควบคุมและดูแลรักษาโรคให้กับประชาชนทั้งประเทศ เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบด้านสาธารณสุขให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา แม้ในช่วงก่อนการระบาดของเชื้อโควิด-19 กระทรวง สธ. ได้จัดทำและพัฒนาแพลตฟอร์มในการมีการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสุขภาพของประชาชนในสังกัดของกระทรวง สธ. มาตลอดนั้น แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เราพบว่าข้อมูลสุขภาพ การเบิกจ่าย การบริหารจัดการทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมินั้น ยังขาดการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างเป็นระบบอีกจำนวนมาก จากข้อมูลดังกล่าว กระทรวง สธ. จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิรูปและพัฒนาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการและการควบคุมโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น กระทรวงสาธารสุขจึงได้ร่วมมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการผลักดันให้เกิดระบบ Health Information Exchange (HIE) อย่างบูรณาการผ่านความร่วมมือการปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (Ending Pandemics through Innovation)” นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติม
“โดยการสร้างแพลตฟอร์มนี้ จะดำเนินการและร่วมกำหนดมาตรฐานกลางร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย โรงพยาบาลในภาคี สนับสนุนโรงพยาบาลในด้านเครื่องมือและกระบวนการที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกิดขึ้นได้ตามมาตรฐาน สำหรับเป้าหมายในระยะที่ 1 นี้ เราหวังว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพการระบาดจะสามารถช่วยการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และสามารถรองรับการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต การเบิกจ่ายและการรักษามีประสิทธิภาพ และคาดว่าจากความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่ การเชื่อมโยงหรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพอย่างสมบูรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแบบต่อเนื่องและรักษาโรคเรื้อรัง ลดการจ่ายยาซ้ำซ้อนหรือการจ่ายยาที่คนไข้แพ้ได้อีกด้วย ผมมีความมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมโรคระบาดลดจำนวนสถิติการสูญเสียชีวิต และประชาชนคนไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศชาติมีความมั่นคงด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืนในอนาคตอย่างแน่นอน” นายอนุทิน กล่าวปิดท้าย
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “ในการจัดงานประชุมและงานแถลงข่าวในวันนี้ เป็นความคืบหน้าของการขับเคลื่อนโครงการที่รวดเร็วมาก ภายหลังการลงนามโครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด-19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น และจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา การที่เราจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดให้มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากการวางแนวทางการในการป้องกัน ควบคุมและการรักษาโรคที่ดี เราพบว่าส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในช่วงการระบาดและในภาวะฉุกเฉินได้ดี คือ การบูรณาการและการเชื่อมต่อฐานข้อมูลด้านสุขภาพ”
“โดยในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด–19 ที่ผ่าน นอกจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย (UHOSNET) กระทรวง อว. ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำโรงพยาบาลสนาม รวมศูนย์แยกกักกันชุมชนกว่า 15,000 เตียงเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาด และได้รับผู้ติดเชื้อแล้วตั้งแต่ต้นดำเนินการรวมทั้งสิ้นกว่า 87,000 คน ทั่วประเทศ ส่วนการรักษาผู้ป่วยนั้น หน่วยงานวิจัยอื่นๆ ภายใต้ กระทรวง อว. ก็ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาวัคซีน การพัฒนาสมุนไพรกระชายขาวต้านโควิด-19 หน้ากากอนามัย ระบบ Telemedicine , X-Ray AI , DDC Care ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อร่วมกับกรมควบคุมโรค และ Application สำหรับการดูแลตนเองที่บ้านช่วงกักตัว รองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและปัจจุบันหลายระบบยังคงใช้งานและสามารถขยายการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดในประเทศ กระทรวง อว. จึงมีแนวคิดในการนำนวัตกรรมต่างๆ ที่มีอยู่ มาสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และคณะปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ดำเนินกิจกรรมที่ 1 ในการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด-19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยุติผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันและในอนาคตด้วยนวัตกรรม โดยหนึ่งในภารกิจที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อน คือ พัฒนาระบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลด้านสุขภาพแบบบูรณาการเพื่อรองรับสถานการณ์ระบาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหลักที่จะมาร่วมผลักดันให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น”
“การเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสุขภาพและการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่สมบูรณ์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา บริการ การเบิกจ่าย ให้กับประชาชนเท่านั้น แต่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านการบริการและการรักษาใหม่ๆ พร้อมกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการพัฒนางานด้านดิจิทัลของประเทศ นอกจากจะสนับสนุนงบประมาณบางส่วนในการร่วมขับเคลื่อนและดำเนินงานโครงการแล้วนั้น กระทรวง อว. ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายและพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านฐานข้อมูล มาตรฐาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะร่วมสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มและการส่งต่อข้อมูลด้วย Electronics กับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมการเชื่อมต่ออื่นๆ เพื่อให้เกิดการบริการสุขภาพประชาชนที่ดี และมีประสิทธิภาพร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน โดยจากความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการในครั้งนี้ มุ่งหวังว่าภายในสิ้นปี 2565 ประเทศไทยจะมีระบบการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนคนไทยสามารถอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้อย่างปกติสุข และภายใน 5 ปีประเทศไทยจะมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ และนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวปิดท้าย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหนึ่งหน่วยงานในการจัดทำและขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (Ending Pandemics through Innovation)” การก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในระบบสุขภาพโลก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีการออกกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ทุกคนได้รับการบริการทางด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงสุด”
“ความเป็นมาของโครงการฯ นี้ คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมชุมชนเข้ากับระบบบริการสุขภาพ ระหว่างประชาชนและแพทย์ผู้ดูแล นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังช่วยให้ประชาชนรู้อาการของโรคที่เป็น วิธีที่จะได้รับการรักษา รู้ถึงสิทธิที่ตนพึงได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างมีคุณภาพ เป็นธรรม และปลอดภัย กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และร่วมมือในการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและชุมชนดีขึ้น ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute: GBDi) ร่วมกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข
และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการศึกษา ออกแบบ พัฒนา และให้บริการระบบสารสนเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน เป็นการวางรากฐานระบบเพื่อพัฒนาให้รองรับการเจริญเติบโตของเทคโนโลยี ความก้าวหน้า และทันยุคทันสมัย การพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพระดับชาติให้มีมาตรฐานในระดับสากลก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการนำข้อมูลระดับมหภาคมาประกอบการตัดสินใจในการวางแผนและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ รวมทั้งบริหารจัดการกับแนวโน้มด้านสุขภาพในอนาคต ด้วยเหตุนี้การพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบ จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลสุขภาพของประเทศ ได้ทำการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในรูปแบบที่แตกต่าง หลากหลาย”
นายชัยวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “แนวคิดนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา การเบิกจ่ายประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทั้งภายในและข้ามเครือข่ายบริการ โดยใช้แนวทางที่มีมาตรฐานมาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ร่วมกัน เพื่อให้ระบบข้อมูลสุขภาพมีความราบรื่นระหว่างระบบ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มคุณภาพการบริการแก่ประชาชนได้ ในที่สุดจึงเกิดเป็นความร่วมมือขึ้นทั้ง 5 กระทรวง ซึ่งการดำเนินงานในครั้งนี้ มุ่งหวังว่าจะเกิดการประสานข้อมูลระหว่างกัน เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีหน้าที่หลักในการออกแบบ พัฒนา และดูแลจัดการระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ทั้งหมดนี้ โดยระบบ Health Link ตั้งอยู่บนคลาวด์ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO 27001 และใช้ Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) จากองค์กร Health Level Seven (HL7) International ซึ่งเป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพที่มีผู้ใช้งานทั่วโลก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะ
ทำหน้าที่รับผิดชอบพัฒนาระบบต่างๆ ให้รองรับการใช้งานและมีประสิทธิภาพให้เพิ่มยิ่งๆ ขึ้นไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนางานนวัตกรรมการบริการอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์ ที่จะช่วยใช้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในอนาคตอย่างแน่นอน”
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “ ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้พบว่าการบริหารจัดการฐานข้อมูลผู้ประกันตนและนายจ้างนั้น ยังมีอีกหลายส่วนที่เราต้องพัฒนาทั้งทางด้านนโยบาย การบริการและการเบิกจ่ายต่างๆ ซึ่งพบว่าการมีข้อมูลและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกันตนกว่า 16 ล้านราย และยังมีส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียน โดยนายจ้างมีอีกหลายล้านคน แต่ปัจจุบันยังมีแรงงานต่างด้าวอีกหลายแสนคนที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนการประกันตน ซึ่งในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้การดูแลรักษาและการควบคุมการระบาดนั้นเป็นไปได้อย่างยากลำบาก”
“การปฏิรูประบบประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock 1 ภายใต้โครงการ “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (Ending Pandemics through Innovation) นั้น เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากการดำเนินงานตามแผนงานที่ทุกท่านร่วมหารือกันในวันนี้สามารถพัฒนาและขับเคลื่อนได้สำเร็จ ผู้ใช้แรงงานที่ประกันตนจะได้รับประโยชน์และการอำนวยความสะดวกอย่างยิ่ง หากข้อมูลเชื่อมโยงการสมบูรณ์ผู้ประกันตนก็จะสามารถเข้าการรักษาข้ามโรงพยาบาลได้ การเบิกจ่ายก็จะเป็นไปโดยง่าย มีประสิทธิภาพ สามารถนำข้อมูลต่างๆ มาช่วยปรับปรุงการบริการและสิทธิประโยชน์ในการรักษาได้ในอนาคต ตามนโยบายการปฏิรูปและการบูรณาความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ขอขอบคุณทั้ง 4 กระทรวงที่ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว และเชื่อว่าการดำเนินงานในครั้งนี้ จะสามารถขยายผลและพัฒนาประโยชน์อื่นๆ ในการการบริการและการรักษาให้กับประชาชนคนไทยต่อไปอย่างแน่นอน” นายสุรชัย กล่าวทิ้งท้าย
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “กระทรวงการคลัง ขอขอบคุณคณะปฎิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock ๑ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดทำผลักดันโครงการความร่วมมือการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) โดยกระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักใน
การดูแลระบบการเบิกจ่าย และการรักษาของข้าราชการไทยทั่วประเทศนั้น เราให้ความสำคัญและพยายามอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบการเบิกจ่าย และการให้บริการกับราชการไทย โดยกระทรวงการคลังมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบสิทธิ ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง”
นายสันติ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากแผนงานการปฏิรูปการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลในด้านการเบิกจ่าย และบริการให้มีการบูรณาการลดความซ้ำซ้อน สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยของข้อมูล หากโครงการร่วมมือนี้ ประสบความสำเร็จจะสามารถช่วยให้การเบิกจ่ายของข้าราชการไทยมีประสิทธิภาพ สะดวกสบายเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน สามารถส่งต่อข้อมูลด้านสุขภาพแบบไร้รอยต่อ และในอนาคตหากการเชื่อมโยงมีความสมบูรณ์และปลอดภัยเราก็สามารถขยายการบริการด้านการรักษาไปยังเอกชน กระทรวงการคลัง พร้อมให้การสนับสนุนทั้งทางด้านนโยบาย บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญในการร่วมขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปดังกล่าว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาอื่นๆ ของประเทศต่อไป”
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “การร่วมประชุมการปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (Ending Pandemics through Innovation)” เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางในการปฏิรูประบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสุขภาพ พร้อมกับทีมคณะปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ในช่วงสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างมาตรการระบบต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดให้ทันทวงทีนั้น แต่ก็ยังพบว่า ประชาชนบางส่วนยังคงไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันทีและบางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการ เนื่องจากสิทธิการรักษาข้อมูลบางส่วนไม่เชื่อมโยงกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบ เพื่อรองรับสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น ระบบ Co-Lab, Co ward, หมอพร้อม, DDC care ร่วมพัฒนากับ สวทช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ระบบ Co-link สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น ซึ่งจากผลการประชุมเรื่องการปฏิรูป ทั้ง 3 ด้านในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น
1) Data Repository
2) Data Standard
3) Healthinformation Exchange
พร้อมทั้งความร่วมจากทั้งกระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน เข้ามาร่วมในการขับเคลื่อนนั้น หากเราสามารถร่วมกันขับเคลื่อนตามแผนงานได้สำเร็จ จะเป็นการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพและการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้การสนับสนุนทุกแผนงานที่เกิดจากการประชุมหารือในวันนี้ ให้นำไปสู่การปฏิบัติและการขยายผลไปยังหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทั่วประเทศ”
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “การจัดประชุมในวันนี้ เป็นหนึ่งความคืบหน้าของงานภายใต้การดำเนินงานโครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด-19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) และแผนปฏิรูปประเทศ โดยกระทรวง อว. ซึ่งเป็นหน่วยงานพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการนำนวัตกรรมที่มีอยู่มาช่วยยุติการระบาดของโรคโควิด-19 ร่วม กับกระทรวงสาธารณสุข สืบเนื่องจากช่วงสถาการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราพบว่าประเทศไทยยังคงต้องการการพัฒนาทั้งทางด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขอย่างบูรณาการอย่างหลายภาคส่วน ตัวอย่างเช่น ระบบสาธารณสุขมูลฐานที่จะมีระบบการบริหารจัดการหลายรูปแบบระบบฐานข้อมูลที่ยังไม่เชื่อมต่อกันโดยสมบูรณ์ ภาคอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่ยังสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทั้งหมด เป็นต้น แต่ในวิกฤติยังมีโอกาส ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่า ทั้งกระทรวง อว. และ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมมือกันในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดอออกมาจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น การพัฒนาวัคซีน ยา ระบบฐานข้อมูล เวชภัณฑ์ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ทั้งนี้ จากการพัฒนาเหล่านี้ หากเราไม่นำสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดและบูรณาการ การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน การบริหารจัดการโรคระบาดทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตก็ไม่สามารถที่จะยุติการระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงทางสุขภาพ และเราสามารถอยู่ร่วมกับโรคระบาดได้แบบสงบสุขนั้น การทำงานแบบบูรณาการโดยการใช้ทั้งด้านสังคม (Social Innovation) และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science & Technology Innovation) ที่มีอยู่มาใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของประเทศไทย ผมเชื่อว่าเราจะสามารถยุติการระบาดของโรคได้โดยเร็วและยั่งยืน ด้วยเหตุนี้กระทรวง อว. จึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อยุติการระบาดของโรคโควิด-19 และควบคุมการระบาดระลอกใหม่ด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemics through Innovation) ขึ้น โดยมอบหมายให้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นผู้ประสานเครือข่ายในการขับเคลื่อน และส่งแผนงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ภายในสิ้นปี 2565 โดยทางสำนักปลัดกระทรวง อว. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเริ่มต้นโครงการกว่า 47 ล้านบาท แต่ทั้งนี้เพื่อความยั่งยืน โครงการดังกล่าว จะอยู่ในแผนการขับเคลื่อนของกระทรวง อว. ไปอีก 5 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และสอดคล้องไปกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขด้วย”
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ ตามที่กล่าวมาในเบื้องต้น ถือเป็นหนึ่งแผนงานใหญ่และสำคัญ ที่โครงการ (Ending Pandemics through Innovation : EPI) จะขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการ ซึ่งการเชื่อมโยงของฐานข้อมูลนี้จะนำไปสู่การพัฒนาระบบการ ควบคุม ป้องกัน รักษา เบิกจ่าย และบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของโรคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้เป็นอย่างดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะสามารถยุติการระบาดของโควิด-19 ควบคุมการระบาดระลอกใหม่ในอนาคต และนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพและนวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม แต่ในอีกมุมหนึ่งวิกฤตินั้นก็เป็นโอกาสในการพัฒนางานนวัตกรรม และการปฏิรูประบบในหลายๆ ด้าน การเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพเป็นหนึ่งเรื่องที่หลายหน่วยงานให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบ หรือแพลตฟอร์มในรูปแบบใหม่เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง และการบริการด้านสุขภาพ การเบิกจ่าย การควบคุมโรคที่ดีและมีประสิทธิภาพ ในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีโอกาสร่วมงานกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในหลายโครงการ ตัวอย่างเช่น ระบบ Co-Link ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมแพลตฟอร์มต่างๆ ในการบริการจัดการอยู่ในระบบเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ระบบ Health link ที่ช่วยเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพประชาชนในพื้นที่เขต กทม. และพื้นที่อื่นๆ เป็นตัน แม้การพัฒนาดังกล่าว จะเกิดขึ้นและเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนนั้น เราเองก็คิดอยู่เสมอว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่นยืน เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และบูรณาการ”
“ความร่วมมือการปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (Ending Pandemics through Innovation)” เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในการบริหารจัดการข้อมูล จากแนวคิดในการปฏิรูประบบฐานข้อมูลทั้ง 3 ด้าน คือ 1) Data Repository 2) Data Standard 3) Health information Exchange ที่ได้จากการประชุมในวันนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะนำไปสู่แผนงานในการจัดเตรียมความพร้อมด้าน Infrastructure ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในการความปลอดภัยของข้อมูลด้วยมาตรฐาน เช่น HL7FIER, HIPAA และอื่นๆ เพื่อรองรับแผนงานดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนแผนงานในทุกๆด้าน ทั้งด้านกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญ งบประมาณ และอื่นๆ เพื่อให้แผนงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้” นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย