รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 จ.เชียงใหม่ ย้ำ 3 ปัจจัยความสำเร็จ UP ตรวจ ATK และฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 100% พร้อมสนับสนุนวัคซีนอีก 7 แสนโดส ฉีดให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด รวมถึงกลุ่มต่างชาติ ชนเผ่า ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ให้เพิ่มการจัดทำ Covid Free Setting เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัย รองรับการเปิดประเทศ
วันที่ 30 ตุลาคม 2564 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิด 19 ที่ตลาดเมืองใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และประชุมบูรณาการการดำเนินงานควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่พร้อมสนับสนุนชุดตรวจ ATK ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 40,000 ชุดเพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง
นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และกำลังจะเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยว ได้กำชับให้ติดตามการป้องกันควบคุมโรคเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยจากรายงานการแพร่ระบาดของจังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ พบเป็นสายพันธ์ุเดลต้า 100% ในชุมชน โรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในตลาด แล้วนำไปแพร่ต่อในครอบครัวและชุมชน ข้อมูลล่าสุด 29 ตุลาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 414 ราย ทั้งนี้เมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดในช่วงแรก ถือว่าเรามีความพร้อมกว่ามาก ทั้งประสบการณ์ ยา เวชภัณฑ์ โดยเฉพาะวัคซีนที่บริษัทผู้ผลิตส่งมอบอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับสูตรฉีดแบบไขว้ทำให้ได้ภูมิคุ้มกันในระดับที่สูงและเร็วขึ้น ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,061,881 คน คิดเป็นร้อยละ 61.4% ความสามารถในการฉีดไม่ต่ำกว่า 25,000 คนต่อวันจึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค จัดส่งวัคซีนเพิ่มอีก 7 แสนโดส เพื่อฉีดประชากรทั้งจังหวัดให้ครอบคลุม 100% ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และฉีดเพิ่มเติมในกลุ่มต่างชาติ ชนเผ่า เพื่อให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่ปลอดภัย การใช้ชีวิตและภาคเศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับความพร้อมด้านการดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะนี้มีผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษา 3,999 ราย เป็นกลุ่มสีเขียว 3,340 ราย กลุ่มสีเหลือง 571 ราย และผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดง 88 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในระบบ CI ที่มีอยู่ในทุกอำเภอ รวม 2,023 ราย ภาพรวมเตียงผู้ป่วยสีเหลืองและแดงยังรองรับได้ แต่หากเกินศักยภาพในพื้นที่ จะส่งต่อรักษาจังหวัดในเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 1 อาทิ ลำพูน ลำปาง เชียงราย ได้มอบนโยบายให้เพิ่มระบบการดูแลแบบ HI ในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เพื่อให้มีเตียงในโรงพยาบาลเพียงพอสำหรับดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงหนักได้มากขึ้น ทั้งนี้ ได้จัดสิ่งสนับสนุนทั้งยา เวชภัณฑ์ เครื่องผลิตออกซิเจน และครุภัณฑ์การแพทย์ให้เพิ่มเติม นอกจากการดูแลด้านร่างกายแล้ว พบว่า โรงพยาบาลจิตเวชสวนปรุงยังให้การดูแลสุขภาพจิตควบคู่กับการรักษาสุขภาพกาย โดยจัดหอผู้ป่วยโควิด 19 ดูแลผู้ติดเชื้อเป็นครอบครัว รวม 18 ครอบครัว และดูแลผู้ติดเชื้อกลุ่มจิตเวชด้วย
ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาเชียงใหม่เคยมีการแพร่ระบาดมาแล้วหลายระลอกและสามารถควบคุมโรคได้ดี การระบาดระลอกนี้เป็นช่วงขาขึ้น สิ่งสำคัญคือ ทุกภาคต้องส่วนร่วมมือกันป้องกันควบคุมโรค โดยภาคประชาชน ต้องเข้มงวดการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) ภาคเอกชน ต้องเพิ่มการจัดทำ Covid Free Setting ในพื้นที่ต่าง ๆ และมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย ATKในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันมั่นใจว่าเชียงใหม่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จและเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย