นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลพยากรณ์ไม้ผลภาคเหนือ ปี 2562 ครั้งที่ 1 ของลิ้นจี่และลำไย โดยคณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับกับสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สสข.6) และสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และตากเพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ต้นฤดู ซึ่งผลพยากรณ์ ครั้งที่ 1 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มกราคม 2562) พบว่า
ลำไยเนื้อที่ให้ผลทั้ง 8 จังหวัด รวม 851,814 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 1.35 ผลผลิตรวม 703,335 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.42 แยกเป็นลำไยในฤดู 436,801 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และลำไยนอกฤดูจะมีผลผลิตรวมประมาณ 266,534 ตัน ลดลงร้อยละ 2.31 ผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 826 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 โดยแยกเป็นลำไยในฤดู 691 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.74 และลำไยนอกฤดูประมาณ 1,213 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 11.78
ขณะนี้ลำไย อยู่ในช่วงแทงช่อประมาณร้อยละ 5 และคาดว่าจะแทงช่ออย่างชัดเจนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งปีนี้การติดช่อจะล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากหลังจากเกษตรกรราดสารเร่งการออกดอกแล้วมีฝนตก ทำให้ลำไยแตกใบอ่อนแทนการติดช่อ อย่างไรก็ตาม คาดว่า ผลผลิตลำไยจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากเกษตรกรหันไปผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น ซึ่งเกษตรกรบางส่วนเป็นเกษตรกรมือใหม่ที่ยังขาดความชำนาญในการบำรุงดูแลสวนลำไยนอกฤดู โดยผลผลิตลำไยในฤดู จะออกมากในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม ทั้งนี้ เกษตรกรควรระมัดระวังและศึกษาเรื่องใช้สารในอัตราตามมาตรฐานที่กำหนด
ลิ้นจี่ เนื้อที่ให้ผลทั้ง 8 จังหวัด รวม 95,381 ไร่ ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 1.10 ผลผลิตรวม 41,473 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผล 435 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.87 โดยสถานการณ์การผลิตลิ้นจี่ขณะนี้ พบว่า ออกดอกแล้วบางส่วน ทั้งนี้ ผลผลิตลิ้นจี่ คาดว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสม ประกอบกับเกษตรกรดูแลดีและหันมาทำลิ้นจี่คุณภาพมาก โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม ประมาณร้อยละ 60 และต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562
รองเลขาธิการกล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อมูลพยากรณ์ดังกล่าว คณะทำงานฯ ได้นำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) วันที่ 28 มกราคม 2562 และจะเร่งกำหนดแผนบริหารจัดการของปี 2562 โดยเร็ว ซึ่งจะยังคงเน้นบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จโดยเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อให้เหมาะสม ทั้งเชิงคุณภาพ ในด้านมาตรฐาน การเพิ่มมูลค่า และด้านปริมาณ โดยจัดสมดุลอุปสงค์ อุปทาน พร้อมเตรียมแผนเผชิญรองรับปริมาณผลผลิตที่จะออกมาก (ช่วง peak) ซึ่ง สศก. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะนำเสนอให้ทราบเป็นระยะต่อไป
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่