สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนมัธยมศึกษา ในเขตสุขภาพที่ 9 ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมจัดกิจกรรม แนะแนว และการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข และโรงเรียนมัธยมศึกษา ในเขตสุขภาพที่ 9 ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมจัดกิจกรรม แนะแนว และการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียนในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ตามโครงการ สบช.สัญจร ปี 2565

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกิตติมศักดิ์สักขีพยาน พิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก และโรงเรียนเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษาในเขตสุขภาพที่ 9 กระทรวงศึกษาธิการ (นครชัยบุรินทร์) โดยมี ผู้อำนวยการโรงเรียนเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษาทั้ง 81 แห่ง ตามโครงการ สบช.สัญจร ปี 2565 โดยมีนายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 ดร.กฤษ ละมูลมอญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ และคณะผู้บริหารร่วมเป็นสักขีพยาน

นายอนุทินกล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา และพัฒนาสุขภาพของผู้เรียนทุกช่วงวัยภายใต้โครงการสถาบันพระบรมราชชนกสัญจร หรือ “สบช.สัญจร” ซึ่งทางสถาบันพระบรมราชชนก มีแนวคิดกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนในทุกพื้นที่ที่อยู่ท้องถิ่นห่างไกล ท้องถิ่นทุรกันดาร เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาสาขาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของสถาบันฯ โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ถือเป็นการนำร่องสร้างความร่วมมือกับโรงเรียนเครือข่ายส่งเสริมประสิทธิภาพการจัดการมัธยมศึกษา เขตพื้นที่สุขภาพที่ 9 ได้แก่ โรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ รวมจำนวน 81 แห่ง ทั้งนี้มีนักเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 420 คน

“ผมขอชื่นชมสถาบันพระบรมราชชนกที่จัดทำโครงการ สบช.สัญจร ขึ้น รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน เป็นการมอบโอกาสให้กับนักเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้เข้าถึงการศึกษา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นพร้อมที่จะพัฒนาบุคลากรของชาติ ให้มีความรู้ทางสุขภาพที่ครอบคลุม สามารถดูแลตนเอง ครอบครัว และสังคมต่อไปในอนาคตได้ และถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในการช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืน” นายอนุทินกล่าว

ด้านศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กล่าวว่า การจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จำเป็นและสำคัญสำหรับนักศึกษาในยุคปัจจุบันทางสถาบันฯเตรียมมอบความรู้ทั้งทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม, ทักษะสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยีและทักษะชีวิตและอาชีพ ซึ่งสถาบันการศึกษาสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 39 แห่งทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนแนะแนวการเข้าศึกษาต่อในโครงการความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายการศึกษาให้กับนักเรียนในท้องถิ่นห่างไกล และผู้ด้อยโอกาสที่มีความสนใจเข้าศึกษาต่อในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับปริญญาตรี โดยสถาบันได้จัดสรรที่นั่งสำหรับนักศึกษา ประกอบด้วย คณะพยาบาลศาสตร์ จำนวน 4 คน คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์จำนวน 1 คนต่อโรงเรียน มีเป้าหมายครอบคลุมโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 900 แห่ง จำนวน 7,000 คน ทั้งนี้จะมีการขยายความร่วมมือไปยังเขตสุขภาพอื่นๆ ต่อไป