วันอังคารที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการตรวจสอบสถานะรูปแปลงที่ดินในระวางแผนที่ในการถอนสภาพนิคมสร้างตนเอง ณ โรงแรมทีเค พาเลซ กรุงเทพมหานคร
นางนภา กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) โดยกองพัฒนาสังคมกลุ่มเป้าหมายพิเศษ รับผิดชอบงานนิคมสร้างตนเองในเขตพื้นที่ที่ได้รับการประกาศพระราชกฤษฎีกา และประกาศคณะปฏิวัติ ทั้งที่เป็นพื้นที่จัดสรรและที่ดินราษฎรเดิม โดยการจัดทำผังที่ดินหรือการรังวัดที่ดินและลงรูปแปลงที่ดินในระวางแผนที่ เพื่อใช้ประกอบการบรรจุสมาชิกนิคม การออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และที่ดินสงวนนิคม (น.ค. ๓) และได้ดำเนินการปรับปรุงฐานข้อมูลรูปแปลงที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเอง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานระวางแผนที่รูปแปลงที่ดินในที่ดินของรัฐ พ.ศ. ๒๕๕๐ นำมาจัดให้อยู่ในระวางแผนที่เดียวกันในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบรูปแปลงที่ดินในระวางแผนที่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามการดำเนินงานตามภารกิจของนิคมสร้างตนเอง ยังคงใช้ “พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑” ดำเนินการใน ๓ รูปแบบ ได้แก่ ๑) การขับเคลื่อนแผนถอนสภาพนิคมสร้างตนเอง ใน ๔ ระยะอย่างต่อเนื่อง ระยะที่ ๑ (๗ ปี, ๗ แห่ง) ระยะที่ ๒ (๑๐ ปี, ๙ แห่ง) ระยะที่ ๓ (๑๒ ปี, ๑๘ แห่ง) และระยะที่ ๔ (๑๘ ปี, ๘ แห่ง) ๒) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของนิคมสร้างตนเอง เช่น งานจัดทรัพยากรนิคมสร้างตนเอง และงานหนังสือสำคัญ โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสมาชิกนิคมสร้างตนเอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่นิคมสร้างตนเองและเจ้าหน้าที่ส่วนกลางสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๓) แนวทางการจ้างช่างรังวัดเอกชนเข้ามารังวัดที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาช่างรังวัดที่ดินของ กรมฯไม่เพียงพอ
การประชุมเชิงปฏิบัติการตรวจสอบสถานะรูปแปลงที่ดินในระวางแผนที่ในการถอนสภาพนิคมสร้างตนเอง รุ่นที่ ๓ ในครั้งนี้ พส.มุ่งหวังให้เจ้าหน้านิคมสร้างตนเองทั้ง ๑๖ นิคมฯ มีความรู้ ความเข้าใจสามารถนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาใช้ในการตรวจสอบสถานะรูปแปลงที่ดินในระวางแผนที่ ซึ่งจะทำให้เกิดระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงพื้นที่กับค่าพิกัดภูมิศาสตร์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการนำเข้า จัดเก็บ ปรับแก้ วิเคราะห์ข้อมูล และแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น แผนที่ สถิติตาราง เพื่อช่วยในการวางแผนและตัดสินใจของผู้ใช้งานให้มีความถูกต้องแม่นยำ อันจะส่งผลให้ภารกิจของนิคมสร้างตนเองบรรลุวัตถุประสงค์ ตาม“พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนางานนิคมสร้างตนเองสู่ยุค ๔.๐ ต่อไป นางนภา กล่าวในตอนท้าย