กรุงเทพฯ : 28 ตุลาคม 2564 – เอสซีจี เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 ธุรกิจยังมั่นคง แม้กำไรลดลงจากการปิดเมืองทั้งภูมิภาค ต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบที่สูงขึ้นตามตลาดโลก ประกาศเดินหน้าสร้างการเติบโตระยะยาวด้วยกลยุทธ์ ESG (Environmental Social and Governance) มุ่งบริหารความเสี่ยงต้นทุนวัตถุดิบและเชื้อเพลิงเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนทั้งพลังงานชีวมวลและแสงอาทิตย์ รวมถึงเตรียมความพร้อมรับมือภาวะเงินเฟ้อที่อาจรุนแรงขึ้น คาดหลังเปิดประเทศตลาดจะคึกคัก เศรษฐกิจโลกฟื้น เตรียมคว้าโอกาสด้วยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและสุขอนามัยที่ดี อาทิ SCG Green Choice และ CPAC Green Solution พร้อมรุกธุรกิจผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกชีวภาพ เดินหน้าช่วยสังคมต่อเนื่อง ทั้งกระจายวัคซีนสู่ภาคใต้ด้วยขนส่งควบคุมความเย็น ช่วยน้ำท่วมและสร้างอาชีพ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจีในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2564 มีรายได้จากการขาย 131,825 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 9,066 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 47 จากไตรมาสก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ทั้งนี้ หากรวมขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในประเทศเมียนมา และกำไรจากการปรับมูลค่าเงินลงทุนเป็นมูลค่ายุติธรรม จะทำให้มีกำไรสำหรับงวด 6,817 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 60 จากไตรมาสก่อน
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานปกติ ลดลงร้อยละ 11 จากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่ และการปิดเมืองทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ หากรวมขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ และกำไรจากการปรับมูลค่าเงินลงทุนดังกล่าว จะมีกำไรสำหรับงวด ลดลงร้อยละ 30
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2564 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 387,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 38,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น
เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการ HVA (High Value Added Product & Services – HVA) ในช่วง 9 เดือนของปี 2564 อยู่ที่ 133,504 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของยอดขายรวม ทั้งนี้ ยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) และ Service Solution คิดเป็นร้อยละ 15 และ 5 ของรายได้จากการขายรวม
นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ใน 9 เดือนของ ปี 2564 ทั้งสิ้น 174,487 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีมูลค่า 850,339 ล้านบาท โดยร้อยละ 44เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 และ 9 เดือนของปี 2564 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 60,060 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 59 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายสินค้าและปริมาณขายที่สูงขึ้น มีกำไรสำหรับงวด 5,210 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าที่ลดลง
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2564 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 172,407 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 24,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 107 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 44,059 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ นอกอาเซียนและความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ก่อสร้างภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 1,199 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 47 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ และการปิดเมืองทั้งภูมิภาค ทั้งนี้ หากรวมขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์โรงงานซีเมนต์ในประเทศเมียนมา จะมีขาดทุนสำหรับงวด 2,400 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2564 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 136,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ 6,476 ล้านบาท ลดลงร้อย ละ16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากรวมขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ดังกล่าว จะมีกำไรสำหรับงวด 2,877 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 57 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
เอสซีจีพี ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 31,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายธุรกิจแบบร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership หรือ M&P) และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดในอินโดนีเซีย ส่งผลให้ความต้องการสินค้าขยายตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และอิเล็คทรอนิกส์ มีกำไรสำหรับงวด 1,781 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2564 เอสซีจีพี มีรายได้จากการขาย 89,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 6,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการซื้อในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารเครื่องดื่ม และสินค้าเพื่อสุขอนามัย ที่ยังสามารถเติบโตได้ประกอบกับการขยายธุรกิจทั้งแบบ Organic Expansion และ M&P ทั้งนี้ การที่บริษัทมีฐานการผลิตในหลายประเทศ และผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองลูกค้าในหลายอุตสาหกรรม ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกได้ดี
นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า “สถานะทางการเงินของเอสซีจียังแข็งแกร่ง แม้ว่ากำไรลดลง จากการปิดประเทศทั้งภูมิภาค ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบสูงขึ้น เอสซีจี ได้เร่งดำเนินกลยุทธ์ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนพลังงาน และวัตถุดิบที่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีก รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต โดยเร่งบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาซื้อขายพลังงานล่วงหน้า การเลือกใช้วัตถุดิบที่เหมาะสมกับ สถานการณ์ตลาดและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน (Alternative Energy) ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564มีสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ RDF เท่ากับร้อยละ 12 (โดยเฉพาะในธุรกิจซีเมนต์ มีการใช้พลังงานชีวมวลและเชื้อเพลิง RDF ถึงร้อยละ 25) และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เท่ากับร้อยละ 3 หรือ 77,744 เมกะวัตต์-ชั่วโมง
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าภายหลังการเปิดประเทศ กำลังการซื้อจะเริ่มกลับมา เพราะภาคธุรกิจและประชาชนจะสามารถ ปรับตัวในการอยู่กับร่วมโควิด 19 ได้เช่นเดียวกับหลายประเทศ นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งเอสซีจี ได้เตรียมคว้าโอกาสสร้างการเติบโตระยะยาวด้วยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและสุขอนามัยอาทิ ผลิตภัณฑ์ SCG Green Choice ที่ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยประหยัดพลังงานและส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีCPAC Green Solution ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มความรวดเร็ว ลดปัญหาฝุ่น ของเสียในงานก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังคงเดินหน้าสู่ธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ ธุรกิจผลิตวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกชีวภาพ เป็นต้น
ธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งสู่การเป็น “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” โดยดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานและเร่งขยายธุรกิจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ตลาดมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ลงนาม MOU กับ Braskem เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตไบโอ-เอทิลีนในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการพลาสติกชีวภาพ ส่วนความคืบหน้าการลงนามในสัญญาซื้อหุ้นบริษัทซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส คาดว่าจะสามารถโอนหุ้นได้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
ขณะเดียวกันโรงงานสาธิตกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Advanced Recycling) ได้รับการรับรองมาตรฐาน “ISCC PLUS” โดย International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) และนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล
ในเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้รับการรับรองเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-World Class ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุดจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 3 ปีต่อเนื่องเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
สำหรับโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนามคืบหน้าตามแผนร้อยละ 87 โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ มีมติอนุมัติการจัดตั้งวงเงินหุ้นกู้รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้ของเอสซีจี เคมิคอลส์ ครั้งแรก โดยได้ยื่นขออนุญาตออกและเสนอขายหุ้นกู้แบบโครงการ Medium Term Note (MTN) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เรียบร้อยแล้ว
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มุ่งจัดหาพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จาก Solar Farm และ Solar Floating รวมถึงการนำลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์กลับมาใช้ใหม่
ขณะเดียวกันได้พัฒนาสินค้า บริการ และโซลูชัน ตอบโจทย์การก่อสร้างและการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน อาทิ CPAC Green Solution ที่มีนวัตกรรมหลัก ได้แก่ CPAC BIM ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บริหารงานก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการสูญเสียเวลาและทรัพยากร ผลิตภัณฑ์กลุ่ม SCG Green Choice เช่น ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริดที่ลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ระบบหลังคา SCG Solar Roof ที่ช่วยประหยัด ค่าไฟฟ้าให้กับเจ้าของบ้าน ด้วยการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ SCG Bi-Ionization Air Purifierระบบไอออน กำจัด เชื้อโรค ที่ช่วยลดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสในอากาศ นอกจากนี้ ธุรกิจได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อติดต่อและบริหารการค้าขายกับคู่ค้าและลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เอสซีจีพี มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและ Mega Trends ของเศรษฐกิจไทยและอาเซียน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน อาทิ เทคโนโลยีเครื่องจักร (Mechanization) ระบบอัตโนมัติ (Automation) ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตรวมถึงคุณภาพของสินค้า ให้กับภาคอุตสาหกรรมควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิต ขณะเดียวกันยังคงมุ่งขยายธุรกิจ ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต (Organic Expansion) และร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจให้ครอบคลุมธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน รองรับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์
ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
สำหรับการช่วยเหลือสังคมด้านวิกฤตโควิด 19 เอสซีจีได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สยามยามาโตะ และคูโบต้า เร่งกระจายวัคซีนไฟเซอร์เชิงรุก 310,000 โดส ใน 4 จังหวัดภาคใต้ที่มีการแพร่ระบาดสูง ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ด้วยระบบควบคุมความเย็นของรถขนส่งบริษัทเอสซีจี โลจิสติกส์ เมเนจเม้นท์ จำกัด
ด้านการบรรเทาความเดือนร้อนจากน้ำท่วม เอสซีจีเปิดเหมืองดินในจังหวัดสระบุรี เพื่อรองรับน้ำท่วมและยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และมูลนิธิเอสซีจีได้มอบสุขากระดาษ SCGP จำนวน 7,000 ชุด และถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และชุมชนกว่า 400 ราย ภายใต้โครงการ “พลังชุมชน”ให้พัฒนาอาชีพ แปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มช่องทางการขาย และสร้างรายได้เพิ่มในวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา”