แม้ปัจจุบันจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะตามประเภท เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม แต่ผู้คนก็ยังคงทิ้งขยะผิดประเภทกันอยู่ ทำให้การบริหารจัดการขยะ รวมถึงการนำขยะไปรีไซเคิล ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ต้องเสียทั้งแรงงานคนและเสียเวลาในการคัดแยกขยะอีกรอบ และจำนวนขยะผิดประเภทที่ทับถมทวีคูณขึ้นทุกวัน ก็ยิ่งทำให้การจัดการขยะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
ทีมมหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 3 จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และเมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ ยิ่งพบว่า ในหลายๆ โครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่รณรงค์ด้านการทิ้งขยะหรือคัดแยกขยะ หรือแม้แต่โครงการในมหาวิทยาลัยเอง ไม่ค่อยมีผลสำเร็จอย่างยั่งยืนเท่าใดนัก นักศึกษาทำได้ไม่นานก็เลิกไป เพราะเหมือนเป็นการบังคับหรือขอร้อง ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือเต็มใจอย่างแท้จริง
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมนิสัยการทิ้งขยะให้ถูกประเภทด้วยการสร้างแรงจูงใจในการทิ้งขยะ กลุ่มนักศึกษามหิดลภายใต้ชื่อกลุ่ม Mang (แมง) หรือแมลงในภาษาไทย และยังเกี่ยวโยงกับ คำว่า Bug ในภาษาคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย นายธนกิตติ์ สาชาติ (แบงค์) นายบัณฑิต โหว (บัน) สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และ นายสรายุทธ หล้าวิไลย์ (แก๊ป) สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ จึงได้รวมตัวกันคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วย “ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิล” (MU Smart Bin) และ “เเอปพลิเคชั่นเพื่อรับเเต้ม” (MU Recycle Application)
“พวกเราพบว่า นักศึกษาและผู้คนส่วนใหญ่ยังขาดแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ พวกเราจึงคิดกันว่าจะเริ่มสร้างหรือปลูกฝังนิสัยนี้อย่างไรดี ซึ่งในท้ายที่สุด เราเห็นตรงกันว่า ถ้าอยากให้โครงการนี้มีความยั่งยืนต้องเริ่มจากการสร้างแรงจูงใจก่อน เมื่อเขาทำเป็นนิสัย ก็จะทำเองโดยความเคยชิน เป็นอัตโนมัติ โดยเราคิดว่าน่าจะใช้การสะสมแต้มช่วยสร้างแรงจูงใจ ให้คนนำขยะรีไซเคิลได้มาทิ้งให้ถูกที่ แล้วก็รับแต้มคะแนนสะสมไป เพื่อนำไปใช้จ่ายหรือแลกเป็นส่วนลดกับร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย เป็นการช่วยกระตุ้นเสริมพฤติกรรมเชิงบวกในอีกทางหนึ่ง ส่วนทางร้านค้าหรือมหาวิทยาลัยก็นำขยะที่ได้ไปขายเป็นเงินต่อไป” ทีม Mang ช่วยกันเล่าถึงเบื้องหลังก่อนจะพัฒนามาเป็นนวัตกรรมที่ชนะใจกรรมการ
“ตู้รับซื้อขยะหนึ่งตู้จะสามารถรับขยะรีไซเคิลได้ตามประเภทของขยะ ได้แก่ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง และกระดาษ เพื่อให้คนที่นำขยะมาทิ้งสามารถทิ้งขยะได้อย่างถูกต้อง และผู้ทิ้งจะได้รับค่าตอบแทนผ่านแอปพลิเคชันเพื่อนำไปใช้จ่ายหรือเป็นส่วนลดกับร้านค้าต่างๆ ในมหาวิทยาลัยได้ นอกจากนี้ในตัวของแอปพลิเคชันเองก็มีความสามารถในการระบุถึงตำแหน่งของถังขยะตามจุดต่างๆ ในแผนที่เพื่อช่วยให้การทิ้งขยะนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา หรือคนรุ่นใหม่” นายบัณฑิต หรือ บัน กล่าวถึงระบบการใช้งานของ “ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิล” และ “เเอปพลิเคชั่นเพื่อรับเเต้ม”
ดร.ปวิตรา จิรวีรกูล รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและสร้างความผูกพัน และอาจารย์ที่ปรึกษาของทีม Mang กล่าวว่า “เหตุผลที่ทีม Mang ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปในเวทีนานาชาติ เพราะมีความโดดเด่นด้านความสามารถเชิงปฏิบัติในการทำแอปพลิเคชั่น มีความพร้อมในการทำและใช้งานเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) ซึ่งจะมีระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่นักศึกษาต้องเรียนรู้การใช้งานให้เป็นจริงและเกิดขึ้นได้ อีกทั้งแนวคิดยังตอบโจทย์ความยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ”
ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่น หรือ IOT ที่มีวิธีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน นำไปใช้ได้จริง สร้างแรงจูงใจให้แก่นักศึกษาและช่วยแก้ปัญหาขยะของมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน จึงทำให้นวัตกรรมของทีม Mang นี้ชนะใจกรรมการ และคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที Asian Conference on Campus Sustainability (ACCS) ครั้งที่ 4 ที่ จัดขึ้น ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี มาครองได้สำเร็จ
นายธนกิตติ์ หรือ แบงค์ กล่าวว่า “พวกเราอยากเห็นผลงานนี้เป็นรูปเป็นร่างและสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งเราจะเริ่มจากการติดตั้งตู้รับซื้อขยะภายในคณะฯ ของเราก่อน ส่วนการประสานกับร้านค้าของมหาวิทยาลัยในการเชื่อมต่อระบบ การจัดการ การสะสมแลกแต้มต่างๆ นั้นก็คงได้เริ่มเร็วๆ นี้ และจากนั้นเราก็จะเก็บวัดผลการตอบรับและพฤติกรรมการใช้งาน รวมถึงประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยี เพื่อประเมินผลว่า คนในคณะมีความคิดเห็นอย่างไรจากการใช้งานจริง มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ถ้าได้เสียงตอบรับที่ดี ก็น่าจะขยายไปทั่วมหาวิทยาลัยมหิดล และหวังว่าจะขยายไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือชุมชนอื่นๆ ต่อไป”
“เป้าหมายสูงสุดที่พวกเราอยากเห็น คือ ทุกคนยืนต่อแถวหย่อนทิ้งขยะที่ตู้ของเรา ไม่คิดจะโยนขยะทิ้งแบบมั่วๆ อีกต่อไป เราถึงขั้นคิดถึงสโลแกนคำคมเลยว่า ไม่ได้อยากให้คนแยกขยะ แต่อยากให้ทุกคนแย่งขยะ คือ เห็นขยะแล้วแย่งกันเอาไปหยอดตู้ เพราะขยะทุกชิ้นมันคือเงินทั้งนั้นเลยนะ” นายสรายุทธ หรือ แก๊ป กล่าวเสริม
ในอนาคต หากนวัตกรรม “ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิล” และ “เเอปพลิเคชั่นเพื่อรับเเต้ม” ได้เกิดขึ้นจริงในมหาวิทยาลัยมหิดล จะสามารถช่วยมหาวิทยาลัยลดต้นทุนในการแยกขยะได้อีกมาก อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมนิสัยในการคัดแยกขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษา ซึ่งจะส่งผลถึงระดับประเทศชาติและในระดับโลก เพราะเพียงแค่แยกขยะให้ถูกประเภท ก็จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแยกขยะ และลดการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของทีม Mang
******************************