กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม สำรวจรอบบ้านเป็นประจำ ระวังสัตว์มีพิษกัดต่อย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนในช่วงฤดูฝนนี้ ในหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วม อาจมีสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาหลบซ่อนในบ้าน ขอให้ประชาชนระมัดระวังและสำรวจมุมอับรอบบ้านเป็นประจำ ตรวจเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ และจัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ หากพบสัตว์มีพิษควรตั้งสติให้ดีและเรียกผู้ชำนาญมาช่วย

วันที่26 ตุลาคม 2564  นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกฟ้าคะนอง และฝนตกหนักบางแห่ง รวมถึงฝนที่ตกสะสม ส่งผลให้บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก กรมควบคุมโรคจึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ระมัดระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ หากโดนกัดต่อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
จากข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการสัมผัสสัตว์มีพิษ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 ตุลาคม 2564 ส่วนใหญ่พบการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสัตว์มีพิษจำพวกแตน ต่อ และผึ้ง จำนวน 1,177 ราย รองลงมาคือ ตะขาบและกิ้งกือมีพิษ จำนวน 794 ราย และงูมีพิษ จำนวน 586 ราย ตามลำดับ

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำการป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อยในช่วงน้ำท่วม คือ

1.สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ

2.สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง

3.หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรแต่งกายให้มิดชิด และสวมรองเท้าบูททุกครั้ง

4.สำรวจตู้เสื้อผ้า ตู้รองเท้า ผ้าเช็ดเท้า ท่อต่างๆ หรือตามขอบประตูของบ้าน เป็นต้น

นายแพทย์ปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ถูกแมลงมีพิษกัดหรือต่อย ให้รีบล้างบริเวณแผลด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง ทาแผลด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลน หากมีอาการปวดมากหรือมีอาการแพ้ เช่น หนังตาบวม หายใจไม่สะดวกควรรีบไปพบแพทย์ สำหรับกรณีถูกงูกัด ควรจดจำลักษณะ ของงูว่าเป็นงูชนิดใดเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ลดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัด และไม่ควรขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดเป็นเนื้อตาย และห้ามกรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟหรือไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยา แก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน ให้รีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3952

************************************