นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เดินหน้าขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นนโยบายการดำเนินงานด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมมาเป็นกลไกขับเคลื่อนชุมชน สังคม นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจจากระดับท้องถิ่นถึงระดับ ประเทศ ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การสืบสาน รักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม และให้ความสำคัญกระบวนการทำงานที่สามารถขับเคลื่อนได้ผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้วยการบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คุ้มค่ากับงบประมาณที่อุดหนุนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายชาย เผยต่อว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ให้แนวทางเครือข่ายวัฒนธรรมสภาวัฒนธรรมในพื้นที่ มุ่งเน้นดำเนินงานผ่านการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้ง ๓๘ แห่งที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเครือข่ายวัฒนธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ โดยสวธ.เปิดกว้างให้เครือข่ายทางวัฒนธรรม นำเสนอแผนงานโครงการ/กิจกรรม เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณหรือเงินอุดหนุนในการดำเนินงานวัฒนธรรม ให้สอดรับอย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (Covid – 19)
“สวธ.พร้อมสนับสนุนเครือข่ายวัฒนธรรม นำมรดกภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage : ICH) มาประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในท้องถิ่น ให้สอดคล้องนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรม ๕ ด้าน หรือ 5F (Food/ Fashion/ Fighting/ Film/ Festival) โดยในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ นี้ จะมุ่งเน้นความสำคัญใน ๒ ประเด็นหลัก คือ อาหาร (Food) และเสื้อผ้าอาภรณ์ (Fashion) เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม (Creative Culture) นับเป็นการผนึกกำลังร่วมกัน ขับเคลื่อน SOFT POWER สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและและคุณค่าทางสังคมนำไปสู่การอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” อธิบดีสวธ.กล่าว
ทั้งนี้ สภาวัฒนธรรมและเครือข่ายฯ สามารถส่งแบบเสนอของบอุดหนุนโครงการ/กิจกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ส่งมาที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (กองกิจการเครือข่ายทางวัฒนธรรม) ๑๔ ถนนเทียมร่วมมิตร เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ๑๐๓๑๐ รายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๒๒๔๗ ๐๐๑๓ ต่อ ๑๔๑๗ , ๑๔๒๔ หรือทางอีเมล์ sapa_dcp@hotmail.com ได้ตั้งแต่บัดนี้ – ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕