วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 น. นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ (หลักสูตรไม่ต่ำกว่า 48 ชั่วโมง) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 7 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สถาบันพระประชาบดี จังหวัดปทุมธานี
นางนภา กล่าวว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดสวัสดิการสังคม การพัฒนาสังคม และการสังคมสงเคราะห์ มุ่งเน้นให้กลุ่มเป้าหมายต้องได้รับการคุ้มครองและบริการสวัสดิการสังคม และสังคมสงเคราะห์ที่เหมาะสม ตาม พรบ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. 2546 ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่สังคมสงเคราะห์ ต้องมีวิชาชีพเฉพาะด้านสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติงาน สามารถใช้ความรู้ และทักษะทางสังคมสงเคราะห์ ในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกัน และแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย
นางนภา กล่าวต่อว่า หลักสูตรที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นหลักสูตรตามนโยบายของ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ให้ความสำคัญที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ ที่มีไม่ได้สำเร็จการศึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ให้มีความเข้าใจในหลักการ กระบวนการทำงาน กฎหมายและระเบียบปฏิบัติงานที่ถูกต้องชัดเจน ตลอดจนจรรยาบรรณของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ได้อย่างเหมาะสม และสามารถเข้าสู่การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมของนักสังคมสงเคราะห์ (มสค.) โดยได้รับเกียรติจาก สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในการเป็นวิทยากรอบรมในครั้งนี้
นางนภา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันกรม พส. โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน นโยบายด้านนวัตกรรมสวัสดิการแห่งรัฐ : Productive Welfare สวัสดิการสังคมเพื่อการพัฒนาและพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานควรคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการปฏิบัติงาน จัดทำ Individual plan ของผู้ใช้บริการแต่ละคน เพื่อวางแผนการช่วยเหลือเฉพาะรายและให้สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวได้อย่างรวดเร็ว การติดตาม แจ้งเตือน ประสานงาน ประสานความร่วมมือหน่วยงานผ่านเทคโนโลยี Mobile Application ซึ่งนวัตกรรมการประเมินตนเอง (Self-Assessment) เป็นนวัตกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ประสบปัญหาทางสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาและประเมินตนเอง มีระบบบริหารจัดการความช่วยเหลือที่มีการวิเคราะห์และใช้ข้อมูลร่วมกับชุมชนในพื้นที่ โดยมี องค์กรภาคเอกชน ที่เป็น CSR และ SE ให้การสนับสนุนความช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ ให้มีองค์ความรู้ด้านการจัดสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ที่ทันสมัยและมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน ครบถ้วน ถูกต้องตามระเบียบ รวมถึงสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ต่อไป นางนภา กล่าวในตอนท้าย