นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยถึงแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นในปีงบประมาณที่ผ่านมาว่า สวธ.ได้ขับเคลื่อนงานด้วยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการขยายเครือข่ายวัฒนธรรมให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาคประชาชนสถาบันการศึกษา เครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน สภาวัฒนธรรมตำบล อำเภอ จังหวัด รวมถึงระดับประเทศ ถือเป็นการกระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมให้ท้องถิ่นต่างๆ ได้บริหารจัดการและขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมของตนเอง เป็นกลไกการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเจ้าของวัฒนธรรม ได้ร่วมกันสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งของชุมชนและของชาติ
นายชายกล่าวต่อว่า ในไตรมาส ๔ ของปีงบประมาณ ๒๕๖๔ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่เครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้ขับเคลื่อนงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมใน ๒๙ จังหวัด จำนวน ๔๐ โครงการ จากที่ได้เสนอของบอุดหนุนแผนงาน/โครงการ ทั้งหมด ๖๐ โครงการ ซึ่งล้วนมุ่งเน้นบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้อง และสร้างกระแสการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้งสิ้น โดยมีผลการดำเนินงานที่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมใน ๕ ด้าน ได้แก่
๑) ด้านการสืบสานงานวัฒนธรรมของชาติ อาทิ -โครงการสืบสานและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นตำบลนาบ่อคำ ของสภาวัฒนธรรมตำบลน่าบ่อคำ -โครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย แคนาดา ของสภาวัฒนธรรมไทยในประเทศแคนาดาแห่งนครโตรอนโต -โครงการสืบสาน เผยแพร่ พุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยในประเทศนิวซีแลนด์ ของสภาวัฒนธรรมไทยในประเทศนิวซีแลนด์ ณ เมืองเนลสัน -โครงการสืบสานศิลปะการแสดงท้องถิ่น จังหวัดนครราชสีมา ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา
๒) ด้านการรักษาและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม อาทิ -โครงการจัดงานประเพณี “สมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป” ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด -โครงการบุญปราสาทข้าว ของสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเสี้ยว จังหวัดอุตรดิตถ์ -โครงการแข่งขันว่าวประเพณีจังหวัดสตูล ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดสตูล -โครงการชุมชนวิถีวัฒนธรรม ๒๐๕ ปี เขมราษฎร์ธานี จอวสภาวัฒนธรรมอำเภอเขมราฐ -โครงการวันอนุรักษ์มรดกไทย โขนไทย วัฒนธรรมไทย มรดกโลก ของสภาวัฒนธรรมเมืองพัทยา
๓) ด้านการต่อยอดวัฒนธรรม อาทิ -โครงการตลาดประชารัฐ ถนนสายวัฒนธรรม ตลาดชุมชนคุณธรรม จังหวัดเพชรบูรณ์ ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ -โครงการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและรุกขมรดกของแผ่นดิน จังหวัดอุตรดิตถ์ ของสภาวัฒนธรรมอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ -โครงการส่งเสริมเทศการแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีทั่วไป ในงานช้างสุรินทร์ ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ -โครงการ “Thai Day in Venice” ของสภาวัฒนธรรมไทยในสาธารณรัฐอิตาลี แห่งเมืองเวนิช
๔) ด้านการยึดหลักธรรมาภิบาล อาทิ -โครงการเสริมสร้างน้ำใจไมตรีสู่วิถี New Normal -โครงการเชิดชูเกียรติ “คนดีศรีลพบุรี” ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดลพบุรี -โครงการอบรมต้นกล้าวัฒนธรรม ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก -โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการครูที่ปรึกษาชมรมวัฒนธรรมไทย ในสถานศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ ของสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ -โครงการยกย่องเชิดชูเกียรติ “ครูภูมิปัญญาเมือง” ของสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
และด้านที่ ๕) ความสำเร็จเชิงนโยบาย ในการส่งเสริม สนับสนุน สภาวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็ง โดดเด่นในด้านการบูรณาการงานวัฒนธรรมร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ ในการสร้างความเข้มแข็งด้วยตนเองและผลงานเป็นที่ประจักษ์ อาทิ -สภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญจากกรณีเหตุกราดยิง ที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล ๒๑ -สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน บูรณาการงานวัฒนธรรมร่วมกับวัดพระธาตุหริภุญชัย จัดงานเทศกาลโคมแสนดวงที่ลำพูน -สภาวัฒนธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมมือกับอุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และท่องเที่ยวจังหวัดในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีษะเกษ ร่วมกับหอการค้าจังหวัด หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจัดงานถนนสายวัฒนธรรมศรีษะเกษ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนเครือข่ายสภาวัฒนธรรมจังหวัดที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี ๒๕๖๔ สวธ.ได้ให้คำแนะนำ แนวทางการเขียนแผนงาน/โครงการ ให้สอดคล้องกับระเบียบและข้อกฎหมายที่กำหนด ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ และที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณในรูปแบบ “งบเงินอุดหนุน” เป็นค่าบำรุงหรือค่าช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งมิใช่ราชการส่วนกลาง เพื่อให้การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ในปีต่อไป