นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะรองประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ มีนโยบายส่งเสริมการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลและพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มุ่งผลักดันมาตรการผ่อนปรนการถ่ายทำภาพยนตร์ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นให้แก่กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบายใช้ “Soft Power” ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของไทยใน 15 สาขา เช่น ภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง แฟชั่น อาหารไทยและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ของรัฐบาลโดยนำคุณค่าของวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และการอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน
รองประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กล่าวอีกว่า ล่าสุดเป็นที่น่ายินดีที่คณะกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ เรื่อง “Beer Run” และ “Beer Run 2” จากบริษัท INWOOD PICTURES,LLC. สหรัฐอเมริกาและนักแสดงที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ รัสเซล โครว์ นักแสดงชาวนิวซีแลนด์ – ออสเตรเลียและแซ็ก เอฟรอน นักแสดงชาวอเมริกันมาถ่ายทำที่ไทยด้วย โดยถ่ายทำที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ราชบุรี สมุทรปราการ นนทบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 13 กันยายน – 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งได้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำสร้างรายได้สู่ประเทศไทยกว่า 373 ล้านบาท เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการผ่อนปรนการถ่ายทำภาพยนตร์ฯ ของผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยได้อย่างชัดเจน รวมถึงศักยภาพและความโดดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและมาตรการจูงใจด้านภาษี เป็นปัจจัยในการเลือกเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย
นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลโดยคณะกรรมการฯ วธ. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ร่วมผลักดันมาตรการผ่อนปรนให้กองถ่ายภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณาทำงานต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 – 2564) โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศไทย ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศมั่นใจและเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ ซึ่งวธ.ได้รับข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2564 (มกราคม – ตุลาคม) มีบริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยรวม 74 เรื่อง ในพื้นที่ 29 จังหวัด สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3,460.06 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศสูงสุด 6 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 35 เรื่อง ภูเก็ต 10 เรื่อง สมุทรปราการ 8 เรื่อง ปทุมธานี 6 เรื่อง พังงา 5 เรื่องและลำปาง สุราษฎร์ธานี นครนายก สมุทรสาคร นครราชสีมาและเชียงราย 3 เรื่อง ส่วน 5 อันดับประเทศที่สร้างรายได้สูงสุดในการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกากว่า 2,511 ล้านบาท เขตบริหารพิเศษฮ่องกงกว่า 286 ล้านบาท สิงคโปร์กว่า 228 ล้านบาท ฝรั่งเศสกว่า 120 ล้านบาท และจีนกว่า 85 ล้านบาท