พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ โดยเห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2562 – 2565) 4 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุขทางทะเล ด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้านสาธารณสุขชายแดน และด้านสาธารณสุขเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว) และแนวทางการขับเคลื่อนแผน ฯ ไปสู่การปฏิบัติ
วันที่ (1 กุมภาพันธ์ 2562) ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 โดยมีผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาดไทย แรงงาน อุตสาหกรรม กลาโหม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เข้าร่วมประชุม
พลเอก ฉัตรชัยกล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2562 – 2565) และแนวทางการขับเคลื่อนแผน ฯ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้นใน 4 ด้าน คือ ด้านสาธารณสุขทางทะเล ด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ด้านสาธารณสุขชายแดน และด้านสาธารณสุขเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว) โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง และระดับพื้นที่ จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับแผนฯ ระดับชาติ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้วางแนวทางการขับเคลื่อนแผน ฯ ไปสู่การปฏิบัติ โดยสื่อสารถ่ายทอดแผนปฏิบัติการ ฯ ไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างความเข้าใจกรอบการดำเนินงานและสาระของแผน เตรียมบุคลากร กำหนดตัวชี้วัด ผลักดันให้มีการดำเนินงาน พัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานทั้งในและระหว่างประเทศ จัดระบบช่องทางสื่อสาร พร้อมทั้งติดตามประเมินผล และทบทวนปรับปรุงแผนให้เหมาะสม
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการระดับชาติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษ ประกอบด้วย 1.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านสาธารณสุขทางทะเล เป้าหมายในระยะแรก 5 จังหวัดที่ได้รับความนิยมท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี จะเน้นบูรณาการเครือข่ายการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวในภาวะวิกฤตฉุกเฉินทางทะเล 2.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในระยะแรก 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง พัฒนาศักยภาพงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม การปรับบริการสุขภาพให้สามารถรองรับประชากรที่เพิ่มเข้ามาในพื้นที่
3.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านสาธารณสุขชายแดน เป้าหมายระยะแรก 4 จังหวัดได้แก่ น่าน ตาก สระแก้ว และระนอง ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายประชากรแรงงานต่างด้าว ปัญหาบุคคลไร้รัฐ โรคระบาดตามแนวชายแดน พื้นที่ทุรกันดาร โดยการพัฒนารูปแบบ/กลไกการทำงานสาธารณสุขชายแดน และการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศด้านระบบป้องกันควบคุมสุขภาวะอนามัยในพื้นที่ชายแดน และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพชายแดน และ 4.การสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษด้านเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว) เป้าหมายระยะแรก 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก ระนอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ กทม. ปทุมธานี และระยอง โดยพัฒนารูปแบบหลักประกันสุขภาพประชากรต่างด้าว เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และจัดระบบสนับสนุนงานสาธารณสุขประชากรต่างด้าวโดยเฉพาะระบบข้อมูล