​สถาบันการบินพลเรือน จับมือสายการบินทำ MOU ส่งนักศึกษาฝึกอบรมภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดินในสถานประกอบการจริง ยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมช่างอากาศยาน

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ บริษัท เอ็มเจ็ท เมนเทนแนนซ์ จำกัด บริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) สายการบินออสเตรียนแอร์ไลน์ เอจี และ บริษัท บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด” เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ณ สบพ. กรุงเทพฯ โดยมี นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการ สถาบันการบินพลเรือน และผู้บริหารแต่ละองค์กรเป็นผู้ร่วมลงนามในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือในการฝึกอบรมภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดินในสถานประกอบการจริงให้กับนักศึกษาหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน สาขาวิชาช่างเครื่องบิน วิชาเอกเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ ดำเนินการโดยกองวิชาช่างอากาศยาน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตช่างอากาศยานที่ได้รับการรับรองหลักสูตรและได้รับการรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดินแห่งแรกจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ปัจจุบันได้ยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมช่างอากาศยานของ สบพ. และกำลังดำเนินการตามแผนการจัดตั้งศูนย์ฝึก EASA Part-147 Training Organization อีกด้วย​

นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการ สถาบันการบินพลเรือน กล่าวว่า “การฝึกอบรมภาคปฏิบัติของหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดินในสถานประกอบการจริง” ระหว่างสถาบันการบินพลเรือน กับ สายการบินต่าง ๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจการบินของประเทศและมีความสัมพันธ์ที่ดีในการสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตบุคลากรการบินของสถาบันการบินพลเรือนมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บริษัท เอ็มเจ็ท เมนเทนแนนซ์ จำกัด บริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) สายการบินออสเตรียนแอร์ไลน์ เอจี และ บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีและเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมพิเศษในวาระครบรอบปีที่ 60 ของสถาบันการบินพลเรือนได้รับโอกาสและความไว้วางใจจากผู้ประกอบการในฐานะพันธมิตร เพื่อให้เกิดความร่วมมืออันสำคัญขึ้นในวันนี้

โดยการลงนามในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรช่างอากาศยานของไทยให้มีคุณภาพ และตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงอากาศยานภาคปฏิบัติขั้นพื้นฐานของประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะการซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นปัจจุบันให้กับนักศึกษาสถาบันการบินพลเรือน โดยให้มีการฝึกอบรมในสถานประกอบการจริงเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรร่วมกันทั้งสองฝ่าย ได้แก่ ช่างอากาศยาน วิศวกรอากาศยาน และบุคลากรของสถานประกอบการ รวมทั้งบุคลากร ครูวิชาภาคพื้น และช่างของสถาบันการบินพลเรือน การร่วมความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการจัดหลักสูตรนายช่างภาคพื้นดิน รวมถึงการพัฒนาบุคลากร การจัดหาอุปกรณ์และครุภัณฑ์ประกอบ ที่สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานได้ตามมาตรฐาน ในฐานะที่สถาบันการบินพลเรือนได้รับการรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

นอกจากพิธีลงนามในวันนี้ สถาบันการบินพลเรือนยังมีแผนในการทำความร่วมมือเพิ่มเติมกับสายการบินต่าง ๆ ในการจัดทำ MOU เพื่อสนับสนุนงานของฝ่ายวิชาการ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะได้ประสานขอทำความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดส่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรพนักงานอำนวยการบิน เข้าฝึกภาคปฎิบัติในด้านอำนวยการบินเพื่อให้ได้รับใบอนุญาต ก่อนที่สายการบินจะรับเข้าทำงาน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายใหม่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพอันนำไปสู่การเกิดผลสัมฤทธิ์ พร้อมนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านช่างอากาศยาน หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะช่วยให้หลักสูตรที่ดำเนินการดังกล่าวมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไปในโอกาสนี้ ผู้บริหารสายการบินที่มาร่วมงานทั้ง 5 หน่วยงานได้กล่าวชื่นชมและมีความยินดีที่ได้ร่วมให้การสนับสนุนสถาบันการบินพลเรือนในฐานะสถานประกอบการที่รับนักศึกษาเข้าฝึกงาน ถือเป็นโอกาสในการสร้างคนกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมการบิน ในขณะเดียวกันสถานประกอบการได้รับโอกาสที่สามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีความตั้งใจเข้ามาเป็นพนักงานในองค์กร มีบุคลากรการบินที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล นับเป็นการยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมช่างอากาศยาน การทำความร่วมมือในวันนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรการบินให้มีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน