อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.27 (YoY) ชะลอตัวเล็กน้อยจากร้อยละ 0.36 ในเดือนก่อน โดยการชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาพลังงาน ที่ลดลงจากร้อยละ 1.24 ในเดือนก่อน เป็นลดลงร้อยละ 3.51 ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เป็นสำคัญ ขณะที่หมวดอาหารสด สูงขึ้นร้อยละ 1.14 จากราคาข้าวสาร เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร ในขณะที่ ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกมากในเดือนนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.69 (YoY)
การชะลอตัวของเงินเฟ้อดังกล่าว สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ลดลงร้อยละ 0.3 (เดือนก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ 0.5) โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และการลงทุนด้านปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ รวมทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต ที่ลดลงร้อยละ 1.1 ต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาที่ลดลงร้อยละ 0.5 ตามราคาหมวดปิโตรเลียมที่ปรับลดลง
สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนมกราคม 2562
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.27 (YoY) ชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.36 การชะลอตัวของเงินเฟ้อดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ โดย น้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 6.09 ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ยกเว้น ก๊าซธรรมชาติ (NGV) และ ก๊าชยานพาหนะ (LPG) นอกจากนี้ หมวดผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ 4.36 (ผักสด ลดลงร้อยละ 3.97 และผลไม้สด ลดลงร้อยละ 2.29) เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้เอื้ออำนวยต่อผลผลิตสินค้าเกษตรมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมาก สำหรับหมวดอื่นๆ ยังขยายตัวได้ดี โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.34 โดยเฉพาะ ข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (สูงขึ้นร้อยละ 5.02) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (สูงขึ้นร้อยละ 3.04) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (สูงขึ้นร้อยละ 2.32) เครื่องประกอบอาหาร (สูงขึ้นร้อยละ 2.16) อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน (สูงขึ้นร้อยละ 0.93 และ 2.05 ตามลำดับ) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.76 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.67 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.29 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.22 และ 0.01 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 (MOM) ลดลงร้อยละ 0.02 (MoM)
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.1 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเดือนก่อนหน้าลดลงร้อยละ 0.5 ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 1.6 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง อุปทานน้ำมันอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความต้องการชะลอตัว กลุ่มปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก ตามราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ การแข่งขันสูงจึงปรับราคาลง เพื่อเพิ่มยอดขาย กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควันและยางแท่ง) สต็อกยางในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง สำหรับกลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแผ่น เหล็กเส้น) แผงวงจรไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอื่นๆ (ทองคำ) ปรับตามราคาวัตถุดิบและราคาในตลาดโลก สำหรับกลุ่มส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคาเพื่อระบายสินค้า รุ่นเดิมตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง (จากจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) ประกอบกับ สต๊อกข้าวของรัฐบาลมีปริมาณน้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ มันสำปะหลังสด ความต้องการ ของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนสุกรมีชีวิตและไข่ไก่ ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง กดดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากราคาสินค้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติและแร่เหล็ก ซึ่งปรับตามภาวะราคาในตลาดโลก
เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ลดลงร้อยละ 0.2 (MoM)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.3 (YoY) (เดือนก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ 0.5) เป็นการลดลงในรอบ 19 เดือน ตามการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงร้อยละ 4.7 ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ท่อเหล็ก ท่อแสตนเลส เหล็กแผ่นเรียบดำ ปรับลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ อิฐมอญ อิฐโปร่ง อลูมิเนียมเส้น ยางมะตอย หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ อ่างล้างหน้า ที่ปัสสาวะ ที่ใส่สบู่ สายน้ำดี ราวแขวนผ้าติดผนัง ปรับราคาลดลงเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย นอกจากนี้หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟ ท่อพีวีซี ข้อต่อสามทาง ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไม่เปลี่ยนแปลง (MoM)
สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนมกราคม 2562
การชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้มีสาเหตุหลักจาก 1) การลดลงของราคาน้ำมัน ตามการลดลงของราคาตลาดโลก และ 2) การลดลงของราคาผัก/ผลไม้ ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการชะลอการปรับค่าโดยสารสาธารณะ และการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินบาท ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ต่ำกว่าการคาดการณ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นนอกเหนือจากด้านต้นทุนและปริมาณผลผลิตสินค้าแล้ว พบว่า ความต้องการของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับดี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่อยู่ในระดับเชื่อมั่น เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (ระยะ 3 เดือน) ทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไป จะอยู่ในระดับเสถียรภาพที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความต้องการ (Demand Pull) ในขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนและผลผลิต (Cost & Supply) ยังเป็นตัวแปรที่ทำให้เงินเฟ้ออาจผันผวนจากการคาดการณ์ได้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในปี 2562 จะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2561 ระหว่างร้อยละ 0.7 – 1.7
——————————————–
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์