กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล คุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานให้จังหวัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ งดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันสถานการณ์มิให้รุนแรงมากขึ้น
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 05.00 น. พบว่า มีจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เกินค่ามาตรฐาน 100 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน แขวงบางนา เขตบางนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง ริมถนนดินแดง เขตดินแดง แขวงพญาไท เขตพญาไท และแขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง) นนทบุรี (ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย) ปทุมธานี (ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง) สมุทรปราการ (ตำบลทรงคนอง ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง และตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง) สมุทรสาคร (ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน และริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อำเภอเมืองสมุทรสาคร) นครปฐม (ตำบลนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม) มีค่า PM2.5 ระหว่าง 51 – 89 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่าระหว่าง 101 – 201 ซึ่งคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี คุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีค่า PM2.5 อยู่ที่ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่าระหว่าง 201 ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด อีกทั้งประชาสัมพันธ์ผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย และข้อมูลคุณภาพอากาศ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนแก่ประชาชน ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ งดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันสถานการณ์มิให้รุนแรงมากขึ้น สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณ ฝุ่นละอองสูงให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เจ็บป่วยได้ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ส่วนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางอยู่ในระดับต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป