ไขมันในเลือดสูง เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้มากในคนไทยอีกโรคหนึ่ง จัดเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไขมันพอกตับ พบไขมันในเลือดสูงได้ 2 ประเภทหลักๆ คือ คอเลสเตอรอล และ ไตรกลีเซอไรด์ การดูแลปัจจัยไขมันในเลือดสูงที่ทำได้คือ การออกกำลัง การคุมอาหาร และการงดสูบบุหรี่ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้ รวมถึง การเลือกใช้สมุนไพรที่มีศักยภาพในการช่วยลดไขมันก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำได้เช่นกัน โดยมีการเผยแพร่จาก WHO ถึงการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลที่ลดลง 10% จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ 50%
กระเทียม เป็นสมุนไพรเครื่องเทศที่มีประโยชน์ในหลายมิติของระบบทางเดินอาหาร และสุขภาพโดยรวม มีรสเผ็ดร้อนปร่า มีการใช้เป็นยากำลังคู่แข่งกับถั่งเช่าได้ กระเทียมเป็นสมุนไพรรสร้อน บำรุงไฟธาตุ บำรุงกำลัง จึงช่วยในโรคเกี่ยวกับการกำเริบของลม เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง ปวดเมื่อย มือเท้าตาย เคลื่อนไหวไม่สะดวก ลดการกำเริบของน้ำหรือเสมหะ เช่น หอบหืด ไอมีเสมหะ อาการบวม
กระเทียมเป็นพนักงานทำความสะอาดเส้นเลือดชั้นเยี่ยม ป้องกันไขมันสะสมในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัจจุบันมีการใช้กระเทียมเป็นยาสมุนไพรไปทั่วโลก สรรพคุณเด่นๆ ของกระเทียมที่ใช้กันคือ ลดโคเลสเตอรอล ลดการแข็งตัวของเลือด ลดความดัน ลดการปวดเกร็ง ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รา และไวรัส ต้านมะเร็ง
ในการแพทย์แผนไทย กระเทียมมีรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ป้องกันอาการท้องอืดเฟ้อ ทำลายสารพิษ เหมาะเป็นเครื่องเทศ มีงานวิจัยพบว่า กระเทียมช่วยกระตุ้นน้ำย่อย ผู้ป่วยที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารลดน้อยลง หรือระบบย่อยอาหารไม่ดี ควรกินกระเทียมเป็นประจำ จะทำให้อาการดีขึ้น และมีแนวโน้มว่า กระเทียมจะมีคุณสมบัติต้านมะเร็งในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
กระเทียมกับการลดไขมันในเลือด มีการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า การรับประทานกระเทียม(รูปแบบผงแห้ง) ครั้งละ 600-900 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ กระเทียมสดวันละ 1-2 หัว ต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์ได้ ดีกว่ายาอย่างมีนัยสำคัญ
สิ่งที่ต้องระวังในการบริโภคกระเทียม อาจพบอาการคลื่นไว้ อาเจียน แผลในกระเพาะอาหารอาจป้องกันได้โดยการกินคู่กับอาการประเภทโปรตีน การกินกระเทียมสดมากๆทำให้มีกลิ่นปากไม่พึงประสงค์ได้ และควรระวังการใช้กระเทียมในผู้ที่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือด เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยาได้
เรื่องน่ารู้ การดับกลิ่นกระเทียมดิบในปาก ให้เคี้ยวใบชา หรือใช้น้ำชาแก่ๆ บ้วนปาก หรือเคี้ยวพุทราจีน 2-3 เม็ดหรือยี่หร่า 3-4 เม็ด หรือถั่วเขียว 4-5 เมล็ด
อ้างอิง
- WHO Monographs on selected medicinal plants. Vol. I. Geneva: World Health Organization; 1999.p. 16-32.
- บันทึกของแผ่นดิน 6 สมุนไพรท้องไส้
……………….
เรื่องโดย : พท.ป.เบญจวรรณ หมายมั่น
Facebook : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
คลินิกแพทย์แผนไทยออนไลน์ @abhthaimed