สอศ.จับมือ ไมเนอร์ฯ ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทุกธุรกิจ

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ทำความร่วมมือ กับบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ดูแลด้านธุรกิจโรงแรม มีโรงแรมในเครือทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจด้านอาหาร และธุรกิจด้านแฟชั่น โดยได้ทำความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่องและให้ความสำคัญในการจัดการอาชีวศึกษา โดยร่วมผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา และให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท โดยการรับนักเรียน นักศึกษาระบบทวิภาคี เข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เน้นการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน

เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สอศ.มีการจัดการเรียนการสอนหลายสาขาอาชีพ เช่น ช่างอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม คหกรรมและมีความพร้อมที่จะขยายความร่วมมือในสาขาอาชีพอื่นๆ เพราะการจัดการเรียนการสอนร่วมกับภาคเอกชน นอกจากจะเป็นการสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพแล้วยังเป็นการสร้างความรู้ ทักษะ และความพร้อม ตลอดจนความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียนแล้วยังส่งผลให้สถานประกอบการได้รับบุคลากรที่มีคุณลักษณะสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรด้วย

สอศ. ได้มีการจัดการเรียนการสอนและฝึกอบรมวิชาชีพเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี เพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดการอาชีวศึกษา บูรณาการให้บริษัทเป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมให้แก่นักเรียน นักศึกษา สังกัด สอศ ในสาขาวิชาที่บริษัทมีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญ เพื่อถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ครู นักเรียน นักศึกษา อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ครู นักเรียน นักศึกษา ได้เข้ารับการฝึกทักษะจากการปฏิบัติงานจริงร่วมกับสถานประกอบการในเครือบริษัทตลอดจนฝึกอบรมในสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ซึ่งไม่อาจหาได้จากในตำราหรือห้องเรียน ซึ่งการดำเนินงานและกิจกรรมความร่วมมือ คือ การร่วมพัฒนาหลักสูตรด้านโรงแรม ด้านอาหาร ด้านธุรกิจค้าปลีก และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ร่วมพัฒนาครูและจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และเพิ่มทักษะวิชาชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา โดยการฝึกประสบการณ์เฉพาะวิชาชีพตามหลักสูตร โดยมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

ด้าน นางปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เดอะ ไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง สอศ. กับบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2555 เริ่มจากนักเรียน 50 คน และในปี พ.ศ.2561 มีนักเรียนในโครงการ กว่า 1,500 คน ในโครงการมีนักเรียนที่จบการศึกษา 96 % และยังทำงานกับบริษัท พร้อมทั้งการเลื่อนขั้น ปรับตำแหน่งงาน เจริญเติบโตในอาชีพมากกว่า 20 % โดยการร่วมลงนามในครั้งนี้ มี 429 วิทยาลัย บริษัท ไมเนอร์ฯ มีความตั้งใจอย่างจริงจัง ที่จะส่งเสริมการศึกษา ควบคู่กับการพัฒนานักเรียน โดยการนำมาตรฐานสากลมาใช้ และให้คุณวุฒิเพิ่มเติมกับนักเรียน นักศึกษา เพื่ออนาคตที่เติบโตในสายวิชาชีพ ไม่ใช่จำกัดในประเทศไทย แต่มีความสามารถทำงานในต่างประเทศสู่ระดับสากล เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

โดยการลงนามในครั้งนี้เป็นการขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมธุรกิจของบริษัท และมีแผนการดำเนินงานซึ่งเน้นความร่วมมือหลักๆ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคีให้ดียิ่งขึ้น การกำหนดเส้นทางอาชีพ และการวัดและประเมินผล ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการแสดงความมุ่งมั่นในการสร้างและพัฒนา เยาวชน นักเรียน นักศึกษาอาชีวะให้เติบใหญ่อย่างมั่นคง มีความรู้ ความสามารถ มีอาชีพ อนาคตที่รุ่งเรือง ซึ่งโครงการความร่วมมือครั้งนี้จะทำร่วมกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ วิทยาลัยพณิชยการเชตุพน วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาเอี่ยมละออ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคบางแสน วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกสมุทรปราการ สถาบันการอาชีวศึกษา กรุงเทพมหานคร สถาบันการอาชีวศึกษา ภาคกลาง 3 และสถาบันการอาชีวศึกษา ภาคกลาง 4 และในโอกาสนี้ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านให้กับผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก จำนวน 125,999 บาท ให้กับสอศ.อีกด้วย

ดร.สุเทพ กล่าวปิดท้ายว่า “ต้องขอขอบคุณ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ที่เห็นความสำคัญของการจัดการอาชีวศึกษา และเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาสายวิชาชีพให้มีศักยภาพ นำไปสู่การผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”

////////////////////////////////////////////////////////