‘พาณิชย์’ รับไม้ต่อจัดรับฟังความเห็นความตกลง CPTPP จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เผยเอกชนสนับสนุนเข้าร่วม เห็นโอกาสการค้าการลงทุนหากช้ากลัวตกขบวน ด้านภาครัฐพร้อมศึกษากฎระเบียบ และเตรียมมาตรการเยียวยา ขณะที่ภาคประชาสังคมเน้นย้ำต้องดำเนินการบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และให้ศึกษาเพิ่มเติมอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมประชุมรับฟังความเห็นเบื้องต้นต่อความตกลง CPTPP เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ศึกษาประโยชน์และผลกระทบของความตกลง CPTPP เพื่อเตรียมความพร้อมของไทย โดยการประชุมครั้งนี้ ภาคเอกชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เนื่องจากจะช่วยขยายการค้า ดึงดูดการลงทุนและเสริมสร้างขีดความสามารถของสินค้า และบริการของไทย ให้เข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคในกลุ่มประเทศ CPTPP และระดับโลก โดยปัจจุบันประเทศต่างๆ พยายามสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งมีหลายประเทศแสดงความสนใจเข้าร่วม CPTPP เช่น เกาหลี สหราชอาณาจักร และโคลอมเบีย เป็นต้น
นางอรมน กล่าวว่า ด้านหน่วยงานภาครัฐมีความเห็นว่า CPTPP ได้ตัดบทบัญญัติหลายส่วนที่เสนอโดยสหรัฐฯ และเป็นเรื่องที่ไทยมีข้อกังวลออก เช่น การใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-state-dispute-settlement: ISDS) กับสัญญาการลงทุน หรือการอนุญาตการลงทุน การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผล การขยายระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ทั้งนี้ CPTPP ยังเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง จึงต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เนื่องจากบางข้อบทยังไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติของไทย และจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมาย รวมทั้งอาจต้องการระยะเวลาในการปรับตัว แต่ยังมีหลายข้อบทที่สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกับแผนการปฏิรูปของไทย
ในส่วนของภาคประชาสังคม ยังมีข้อกังวลเรื่องการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) และ สนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) และการนำข้อบทที่ชะลอการมีผลบังคับใช้ไปแล้วกลับเข้ามามีผลกับสมาชิกใหม่ หากสหรัฐฯ เปลี่ยนใจกลับมาเป็นสมาชิกอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้สมาชิก CPTPP เคยชี้แจงไว้ว่าเป็นความตั้งใจที่จะดึงเรื่องอ่อนไหวที่เป็นความต้องการของสหรัฐฯ ออกจากการมีผลใช้บังคับ ซึ่งหากจะนำกลับเข้ามาจะต้องเป็นฉันทามติของสมาชิกทั้งหมด ในส่วนของข้อกังวลของภาคประชาสังคมนั้น กรมฯ จะให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อบท CPTPP อย่างรอบด้าน และจะหารือผู้เกี่ยวข้องบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อไป
นางอรมน ย้ำว่า การจัดรับฟังความเห็นครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเตรียมความพร้อมเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีแผนจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือในรายละเอียดแต่ละข้อบท รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมเรื่องผลดี ผลเสีย รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายต่อไป
ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชีลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บูรไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดย CPTPP จะมีผลใช้บังคับเมื่อสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศให้สัตยาบันตามขั้นตอนภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งคาดว่า CPTPP น่าจะมีผลใช้บังคับอย่างเร็วประมาณต้นปี 2562