กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมปฏิบัติการกรมอนามัย ลงพื้นที่พระราม 2 ดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 ให้ อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สถานีตำรวจ ให้ความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่ถูกต้อง
วันที่ (30 มกราคม 2562) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวมาตรการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับมาตรการการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งแต่ละพื้นที่และแต่ช่วงเวลามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่ตนเองอาศัยและพื้นที่ที่จะเดินทางไป จากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ AirVisual และคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจากเว็บไซต์กรมอนามัย anamai.moph.go.th หัวข้อ ภัยสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เพื่อป้องกันตนเอง รวมทั้งได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่สื่อสารแจ้งเตือน ให้ความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่ถูกต้อง การใส่หน้ากากที่ถูกต้อง ในวันนี้ ได้ส่งทีมปฏิบัติการกรมอนามัยลงพื้นที่พระราม 2 แล้ว
ในการดูแลสุขภาพ ขอให้ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านและเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หากอยู่นอกบ้านและขณะเดินทางให้สวมหน้ากาก ไม่ออกกำลังกายในพื้นที่เสี่ยง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ ประชาชนทั่วไป ขอให้ลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นต้องสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น จำกัดการทำกิจกรรมที่แรงมากและการออกกำลังกายกลางแจ้ง
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมมาตรการเร่งด่วนด้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานคร เพื่อดูแลคุ้มครองสุขภาพประชาชน เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่ส่วนกลาง และในพื้นที่เสี่ยง 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และมอบให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ จัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เสี่ยงทั้งในกทม.และปริมณฑลตั้งแต่เริ่มพบสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ดำเนินการเชิงรุกในการให้ความรู้ สร้างความตระหนักแก่ประชาชน ป้องกันและดูแลสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถานีรถไฟฟ้า สถานีตำรวจ ศูนย์การค้า สวนสุขภาพ และชุมชน เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง การป้องกันตนเองที่ถูกต้องผ่านสื่อโซเชียลและสื่อหลัก สนับสนุนสื่อให้ความรู้ แจกหน้ากากอนามัย พร้อมแนะนำวิธีการใช้ที่ถูกต้อง เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล จัดคลินิกเฉพาะโรคให้คำปรึกษา ประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้จัดทีมปฏิบัติการลงให้ความรู้ประชาชนในลงพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ รณรงค์การไม่เพิ่มปริมาณฝุ่นละออง สนับสนุนสื่อ แจกหน้ากากอนามัย และจะเชิญครูโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงมาประชุมหาแนวทางในการดูแลสุขภาพเด็กนักเรียนในโรงเรียน ขยายช่องทางเผยแพร่คลิปความรู้ผ่านทางสื่อวิทยุ เช่น จส.100 สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย สวพ.91 เป็นต้น จัดทำแผนระยะเร่งด่วน สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 และการเฝ้าระวังและตอบโต้ข่าวที่เป็นเท็จ
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย 22 แห่ง ของผู้ป่วยใน 3 โรค ได้แก่ โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน และส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่กรณีพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจำนวนมากผิดปกติ
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้เฝ้าระวังผู้ป่วยโรงพยาบาลในสังกัด จำนวน 12 แห่ง พบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคที่เฝ้าระวังไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เมื่อออกนอกบ้านขอแนะนำให้ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และรีบอาบน้ำหลังกลับเข้าบ้าน เพื่อป้องกันผื่นแพ้ที่ผิวหนัง สำหรับคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ รพ.นพรัตนราชธานี มีผู้ขอคำปรึกษาวันละประมาณ 20 ราย นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำหรับหน้ากากป้องกันฝุ่น ไม่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ การนำเข้าไม่ต้องขออนุญาตจาก อย.