กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนหากถูกลูกสุนัข/ลูกแมวที่เลี้ยงไว้ในบ้านกัดหรือข่วน แม้รอยแผลจะเพียงเล็กน้อย หรือโดนกัด ข่วนนานแล้วก็ตาม ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เผยปี 2561 นี้พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 8 ราย
วันที่ 23 เมษายน 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–23 เมษายน 2561 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย (สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ พัทลุง และหนองคาย) โดยผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นเด็กหญิง อายุ 15 ปี อยู่ที่จังหวัดหนองคาย จากการสอบสวนโรค พบว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตถูกลูกสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านอายุประมาณ 2 เดือน ซึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ข่วนบริเวณลำคอ ผู้ป่วยไม่ได้ไปพบแพทย์และไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
จากข้อมูลในปี 2561 นี้ พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ถูกลูกสุนัขกัดหรือข่วน แล้วไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกิดจากความชะล่าใจในการป้องกันหลังสัมผัสสัตว์ที่เสี่ยงมีเชื้อเพราะคิดว่าเป็นลูกสัตว์ที่นำมาเลี้ยงจึงน่าจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า และขาดความตระหนักเพราะเห็นว่าเป็นรอยแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนว่าหากท่านเคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วนนานแล้ว และแม้ว่ารอยแผลจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แล้วไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมากตั้งแต่ 1 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 1 ปีได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งสุนัข แมว โค กระบือ สุกร เป็นต้น ซึ่งในประเทศไทยจะพบมากในสุนัขและแมว หากประชาชนถูกสุนัขและแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัข/ลูกแมว อายุ 2-3 เดือน กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และถ้าได้รับการฉีดวัคซีนแล้วให้ไปฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดทุกครั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422