ในวันที่ 29 มกราคม 2562 เวลา 09.00 น. ณ ห้องรับรอง ชั้น 3 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับคำร้องจากนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 3 คน ซึ่งเป็นนิสิตข้ามเพศ ในฐานะที่ สค. เป็นผู้รับผิดชอบพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ถูกกระทำให้สามารถใช้สิทธิเพื่อให้ได้รับการพิทักษ์ คุ้มครอง และป้องกันสิทธิของตนเองในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ ห้ามแบ่งแยก ห้ามกีดกัน ห้ามจำกัดสิทธิประโยชน์ ห้ามเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งเพศ และ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้การคุ้มครองบุคคลทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย เพศหญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (กฎหมายเรียกว่า ผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด)
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับในวันนี้ นิสิตข้ามเพศจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 จำนวน 2 คน (ผู้ร้องที่ 1 และ 2) และชั้นปีที่ 4 จำนวน 1 คน (ผู้ร้องที่ 3) โดยนิสิตทั้ง 3 คน ประสงค์ยื่นคำร้องต่อ สค. เพื่อนำคำร้องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) พิจารณากรณีที่คณะกรรมการบริหารคณะครุศาสตร์ไม่อนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพในการเข้าเรียนและสอบไล่ระดับ รวมทั้ง ผู้ร้องที่ 3 ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 และจะมีการฝึกปฏิบัติงานก็เกรงว่าจะถูกห้ามมิให้แต่งกายตามเพศสภาพด้วย ซึ่งนิสิตทั้ง 3 คน เห็นว่าเป็นการกระทำอันละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และก่อให้เกิดการกีดกัน จำกัดสิทธิประโยชน์ที่นิสิตทั้ง 3 จะได้รับ ในฐานะนิสิตของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทั้งผู้ร้องที่ 1 ยังถูกอาจารย์พิเศษท่านหนึ่งห้ามไม่ให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าเรียนหากแต่งกายตามเพศสภาพ ทั้งยังกล่าวตำหนิและด่าทอต่อหน้าเพื่อนนิสิตในชั้นเรียนด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่กล่าวว่า “กะเทยไม่สมควรจะไปสอนใคร” ทำให้ผู้ร้องที่ 1 ได้รับความอับอายและถูกกระทำความรุนแรงทางวาจาและจิตใจ ซึ่ง สค. จะเร่งนำคำร้องของนิสิตทั้งสามยื่นต่อคณะกรรมการ วพล. เพื่อพิจารณาโดยเร็ว โดยจะนำเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการ วลพ. ครั้งที่ 2/2562 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ที่จะถึงนี้
“สค. ยินดีที่จะรับคำร้องเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเพศใดก็ตาม ทั้งเพศหญิง เพศชาย หรือ บุคคลที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด เนื่องจากพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้ความคุ้มครองแก่ทุกบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยสามารถยื่นคำร้องมาที่ สค. ทั้งการมายื่นด้วยตนเอง หรือส่งจดหมายทางไปรษณีย์ หรือส่ง E-mail มาที่ช่องรับเรื่องร้องเรียนในเว็บไซต์ www.dwf.go.th ของ สค. ได้” นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย