กรมการแพทย์แนะผู้สูงอายุหมั่นออกกำลังกาย

กรมการแพทย์แนะผู้สูงอายุออกกำลังกายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลตนเอง เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยหมั่นออกกำลังกาย หางานอดิเรกทำ และลดพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ

นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของสังคมไทยเกิดขึ้น อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก และปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้สูงอายุร้อยละ 17.9 มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดประมาณ  ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจะถือว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ สาเหตุเกิดจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม  ตลอดจน  ความรุดหน้าทางการแพทย์และการสาธารณสุข ทำให้อัตราการเกิดต่ำและอัตราการตายลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สังคมไทยมีประชากรวัยเด็กลดลงในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การที่จะมีอายุยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดี จำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและพึ่งพาตนเองได้ การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เช่น ออกกำลังสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ

นายแพทย์สกานต์  บุนนาค  รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุควรเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน และลดพฤติกรรม เช่น นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี หรือเล่น social media เป็นเวลาทีละนานๆ เป็นต้น โดยรูปแบบกิจกรรมทางกายที่ผู้สูงอายุสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้ 1. กิจวัตรประจำวันที่ทำด้วยตนเองที่บ้านหรือในยามว่าง ได้แก่ งานบ้าน กวาดถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ กวาดใบไม้  2. กิจกรรมการเดินทาง ได้แก่ การเดินไปจ่ายตลาด การเดินไปทำงาน ปั่นจักรยาน  3. กิจกรรมสันทนาการหรืองานอดิเรก เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางร่างกาย ส่งเสริมสุขภาพจิตใจและสมอง เช่น การร้องเพลง เต้นรำ วาดภาพ ถ่ายรูป ปลูกต้นไม้  4. การออกกำลังกายง่ายๆ เช่น ลีลาศ รำไทเก๊ก รำไม้พลอง ส่วนผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่อาจได้รับอันตรายจากการออกกำลังกาย เช่นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคข้อเข่าเสื่อม ควรได้รับคำแนะนำหรืออยู่ในการดูแลของแพทย์หรือ นักกายภาพบำบัด การออกกำลังกายควรเริ่มด้วยการยืดเหยียด warm up เพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมและปรับตัวได้ทัน  การออกกำลังต้องไม่หนักเกินไป โดยอาจสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าออกกำลังกายหนักเกินไป เช่น เวียนศีรษะ ใจสั่น จุกเสียดแน่นหน้าอก และก่อนหยุดออกกำลังควรมีการ warm down การออกกำลังกายเป็นประจำจะส่งผลดีต่อร่างกายหลายระบบ เช่น หัวใจหลอดเลือด ฝึกการทรงตัวเพิ่มความแข็งของกล้ามเนื้อทำให้ลดความเสี่ยงการหกล้ม ลดการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรงลดโอกาสกระดูกหัก กระตุ้นการทำงานของลำไส้ลดอาการท้องอืดท้องผูก และยังทำให้สดชื่นลดการเกิดภาวะซึมเศร้าอีกด้วย

**********************************