กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้รับเกียรติในการจัดงานประชุมวิชาการเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2561 จำนวน 2 ท่าน ซึ่งทั้งสองท่านได้ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน ซึ่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่าวัคซีนชนิดฉีดซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเดิมที่ใช้มาก่อน
วันที่ (29 มกราคม 2562) ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “Cholera Vaccine Forum” In Honor of the Prince Mahidol Award laureates เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2561 จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ 1.ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ (Professor John D. Clemens) และ 2.ศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน (Professor Jan R. Holmgren)
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ได้รับรางวัลทั้งสองท่าน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน เรียกว่า ชานคอล (Shanchol) ซึ่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีกว่าวัคซีนชนิดฉีดซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเดิมที่ใช้มาก่อน โดยวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกินนี้ สามารถป้องกันโรคได้นานกว่า 5 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่าหากให้วัคซีนดังกล่าวจนมีความครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 60 จะสามารถช่วยป้องกันการระบาดของโรคอหิวาตกโรคได้ ส่งผลให้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้วัคซีนอหิวาตกโรคชนิดกินทดแทนวัคซีนชนิดฉีด และแนะนำให้ใช้วัคซีนชานคอล ในประเทศที่มีปัญหาในการควบคุมการระบาดของโรคอหิวาตกโรค นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกและกลุ่มพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) ยังได้ร่วมกันจัดตั้งคลังวัคซีนอหิวาตกโรคสำหรับใช้ป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรค โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคอหิวาตกโรค เป็นโรคท้องเสียเฉียบพลันที่มีความรุนแรงและสามารถระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเกิดจากเชื้อ Vibrio Cholera serogroup O1 และ O139 ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยมักมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมาก ในกรณีที่ไม่สามารถให้สารน้ำและเกลือแร่ทดแทนได้ทัน ผู้ป่วยจะเกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้
สำหรับประเทศไทย โรคอหิวาตกโรคเป็นโรคที่พบการระบาดเป็นระยะ และมักสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนหรืออาหารที่ไม่ปรุงสุกใหม่ๆ อาหารค้างมื้อ เป็นต้น โดยพบการระบาดมากในปี พ.ศ.2553 และในปี พ.ศ.2558 และพบการระบาดขนาดเล็กเป็นระยะ แม้โรคอหิวาตกโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด แต่วัคซีนก็ยังมีประโยชน์ต่อบุคคลที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ หรือเข้าไปทำงานในค่ายอพยพลี้ภัย หรือเดินทางไปในประเทศอเมริกาใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอินเดีย เป็นต้น หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
*************************************************
ข้อมูลจาก: กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน /
สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค