กระทรวงวัฒนธรรมปั้นนักเขียนบทภาพยนตร์มืออาชีพ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิงพุ่งทะยานสู่สากล ชื่นชมศักยภาพเยาวชนไทย ชนะการประกวดเขียนบทภาพยนตร์-ละครโทรทัศน์

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) วัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพของไทย วธ.จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับ หน่วยงานรัฐ เอกชน สมาคมและผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวิดีทัศน์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ด้านการพัฒนาบุคลากรการผลิตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ให้เป็นมืออาชีพ จึงได้ดำเนินการโครงการอบรมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านภาพยนตร์และพัฒนาบทภาพยนตร์และละครให้มีคุณภาพ โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการระดับเยาวชนสร้างนวัตกรรมด้านเนื้อหาและพัฒนาบุคลากรนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ในรูปแบบของละครเรื่องสั้น (ซีรี่ส์) ของสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Content Thailand Academy) รูปแบบของละครเรื่องสั้นชุด (ซีรีส์) หัวข้อ “ครบประเด็น เล่าให้เป็น เห็นมุมมอง” โดยอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างนวัตกรรมด้านเนื้อหา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงบ่มเพาะความคิดการถ่ายทอดเรื่องเล่าเชิงสร้างสรรค์ หลังจากอบรมแล้วได้จัดประกวดการเขียนบทละคร เรื่องสั้นชุด (ซีรีส์) ซึ่งมี 4 ทีมที่ได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ทีม All Art Production โดยนายบวรศักดิ์ วารีหลั่ง นายนบีล อารีย์สมาน น.ส.ขนิษฐ อภิชยนุกูลกิจ น.ส.จรรยาพร เข็มแก้ว และน.ส.ณัฐวดี พิภพพรชัย รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ทีม 2 a.m. โดย น.ส.ศรุตา บุญเกิด น.ส.พิมพ์พร พีรศักดิ์โสภณ น.ส.รติมา คณะวาปี น.ส.วิลาสินี บุญพิคำ และนายวรวุฒิ ดวงอักษร รองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีมสวัสดีสายปั่น I’m done running โดย น.ส.ญาดา สัตบุษ น.ส.ชรัชชา ศิลปวิลาวัณย์ น.ส.สรัลชนา ขำเดช น.ส.ชญานิศ ประดิษฐสุวรรณ และนายเสฎฐวุฒิ อินบุญ และรางวัลชมเชย ทีม SWAN TEAM โดยนายธนกร จิณณ์เมธา น.ส.ธัญปวีณ์ พิริยะกรณ์เกษม น.ส.โชติรส คำปินตา น.ส.วรดา ตาลประเสริฐ น.ส.ธนัชพร นาสา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า วธ.ที่ยังได้ดำเนินงานโครงการประกวดบทภาพยนตร์ส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2564 เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมศักยภาพบุคลากรด้านภาพยนตร์ และพัฒนาบทภาพยนตร์ในมีคุณภาพ โดยปรับมาตรฐานภาพยนตร์ของไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ในสาระเรื่องค่านิยม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยมีผลงาน จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง หมื่นลี้ ของ นายพนธกร กัญญาบุตร และเรื่อง คืนสู่ฝัน..วันเลี้ยงรุ่น ของ นายกิตติคุณ ไพรัตน์ นอกจากนี้ วธ.ยังได้สนับสนุนการประกวดภาพยนตร์สั้นเผยแพร่ผ่านสื่อของการประชุมสุดยอดธุรกิจคอนเทนต์เอเชีย Asia Content Business Summit (ACBS) (Project 19) ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงด้านสุขภาพของภูมิภาคเอเชีย และเรื่องราวการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาสร้างเป็นภาพยนตร์สั้น ในหัวข้อ ความสำเร็จ เอาชนะวิกฤตโควิด-19 ทั่วเอเชีย ซึ่งจะช่วยปรับมุมมองที่ดีของเอเชีย และการสร้างโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี โดยมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือก 19 เรื่อง ซึ่งรางวัล 3 อันดับแรก ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง Kiss Me through the window กำกับโดย โกดากะ ซาริ จากประเทศญี่ปุ่น รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เรื่อง Mask Land กำกับโดย นายอมรวัฒน์ พุทธเลิศศักดิ์ จากประเทศไทย และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 เรื่อง Remember กำกับโดย แดเนียล อารีฟ และ จูเลียน เฉิน จากมาเลเซีย ทั้งนี้ ทุกทีมจะได้รับรางวัลเป็นโล่รางวัล เกียรติบัตรและเงินรางวัล โดยภาพยนตร์จากการประกวดจะเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ผ่านสื่อของ ACBS (Project-19) และงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียน ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้

รมว.วธ. ยังกล่าวอีกว่า วธ.ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับผู้ได้รับรางวัล และจะนำผลผลิตของโครงการมาต่อยอด โดยการเจรจาธุรกิจกับนักลงทุนเพื่อผลิตภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เรื่องสั้นในรูปแบบซีรี่ส์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและการตลาด รวมถึงยังได้รับรางวัลในเทศกาลในประเทศและต่างประเทศ อาทิ มนต์รักหนองผักกะแยง มะลิลา ตั้งวง ที่รัก และฝนตกขึ้นฟ้า และยังมีภาพยนตร์ส่งเสริมสังคมคุณธรรมและรักษาศิลปวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์สั้น เรื่อง ปากดี และ 10 บาทของครู ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ชมทั้งประเทศ รวมทั้งผู้ชมชาวจีนที่รับชมผ่านแอปพลิเคชันโตวยิน ขณะนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอยู่ในอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากจีน เกาหลี และญี่ปุ่น สามารถสร้างรายได้ในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 219,000 ล้านบาทต่อปี และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียนอีกด้วย