ตำรับยาจันทน์ลีลา เป็นตำรับยาแก้ไข้ที่มีประวัติการใช้มายาวนาน ประกอบด้วยสมุนไพรหลัก 8 ชนิด ได้แก่ โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา จันทน์ขาวหรือจันทน์ชะมด จันทน์แดง กระดอม บอระเพ็ด และปลาไหลเผือก ยาจันทน์ลีลาเป็นยาแผนโบราณที่เป็นยาสามัญประจำบ้านและจัดอยู่ในกลุ่มยาแก้ไข้ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ในบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมในบัญชียาหลักแห่งชาติ (1) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สูตรตำรับ ในผงยา 99 กรัม ประกอบด้วย โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาวหรือ จันทน์ชะมด แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก หนักสิ่งละ 12 กรัม พิมเสน หนัก 3 กรัม
ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู
ขนาดและวิธีใช้ :
ชนิดผง
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 ก. ละลายน้ำสุก ทุก 3- 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มก.-1 ก. ละลายน้ำสุก ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
ชนิดแคปซูลและชนิดเม็ด
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 ก. ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
เด็ก อายุ 6 – 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มก.-1 ก. ทุก 3-4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
ข้อควรระวัง
– ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
– หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
ข้อมูลเพิ่มเติม
แนะนำให้ใช้ยาจันทน์ลีลาได้ในหญิงที่มีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน
สำหรับรายงานวิจัยที่สนับสนุนสรรพคุณของตำรับยาจันทน์ลีลา มีดังนี้
- ฤทธิ์แก้ไข้
เมื่อป้อนกระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยไลโปโพลีแซคคาไรด์ด้วยผงยาตำรับจันทน์ลีลา ขนาด 100, 200 และ 400 มก./กก. หรือยาพาราเซตามอล ขนาด 200 มก./กก. พบว่ายาจันทน์ลีลาขนาด 400 มก./กก. สามารถลดไข้ได้ตั้งแต่ชั่วโมงที่ 1 หลังจากได้รับยา และยังแสดงผลลดไข้ต่อเนื่องไปอีก 3 ชั่วโมงเช่นเดียวกับยาพาราเซตามอล (2) ตำรับยาจันทน์ลีลาขนาด 1,200 มก./กก. มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิร่างกายของหนูแรทที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเหนี่ยวนำด้วยยีสต์ได้ แต่ฤทธิ์อ่อนกว่ายาแอสไพริน ขนาด 300 มก./กก. (3) การศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นไข้ จำนวน 18 คน อายุระหว่าง 16-55 ปี ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอุณหภูมิทางปากก่อนให้ยาเท่ากับ 38.6±0.2 °C โดยให้ยาจันทน์ลีลาขนาด 500 มก. จำนวน 1 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง ทำการวัดอุณหภูมิ ทางปากทุก 4 ชั่วโมง จนครบ 72 ชั่วโมง พบว่ายาจันทน์ลีลาไม่สามารถลดไข้ได้ อาจเนื่องมาจากในการทดลองเลือกใช้ยาในขนาดต่ำสุดที่ได้ระบุไว้ในตำรายา (4)
- ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของตำรับยาจันทน์ลีลาในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการบวมของใบหูด้วย ethyl phenylpropiolate (EPP) โดยให้ยาจันทน์ลีลาในขนาด 1, 2 และ 4 มก./20 มคล./หู เปรียบเทียบผลกับหนูในกลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน phenylbutazone ขนาด 1 มก./20 มคล./หู และกลุ่มควบคุม พบว่าสามารถลดการบวมของใบหูหนูและให้ผลใกล้เคียงกับยา phenylbutazone นอกจากนี้ ยาจันทน์ลีลาที่ขนาด 300, 600 และ 1,200 มก./กก. ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าด้วยคาราจีแนนได้ (3)
- ฤทธิ์แก้ปวด
ตำรับยาจันทน์ลีลาขนาด 300, 600 และ 1,200 มก./กก. มีฤทธิ์แก้ปวดในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้ปวดด้วยการฉีดฟอร์มาลินเข้าใต้ผิวหนังหลังเท้าหนู โดยให้ผลดีกว่ายามาตรฐานแอสไพริน ขนาด 300 มก./กก. ในระยะแรก (early phase; ระยะที่เกิดความเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน ประมาณ 0-5 นาที หลังฉีดฟอร์มาลีน) แต่ให้ผลใกล้เคียงกันในระยะหลัง (late phase; ประมาณ 15-30 นาทีหลังฉีดฟอร์มาลิน) (3)
- ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
การศึกษาในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอลร่วมกับกรดเกลือ (ethanol/hydrochloric acid) การแช่น้ำเย็นเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเครียด และยาต้านการอักเสบ อินโดเมทาซิน (30 มก./กก.) เมื่อป้อนด้วยตำรับยาจันทน์ลีลา ขนาด 150, 300 และ 600 มก./กก. เปรียบเทียบผลกับยา cimetidine ขนาด 100 มก./กก. พบว่าตำรับยาทุกขนาด และยา cimetidine มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูได้ แต่ตำรับยาจันทน์ลีลาไม่มีผลลดการหลั่งกรดและความเป็น กรดรวม (total acidity) และไม่มีผลเพิ่มค่า pH ในกระเพาะอาหาร ขณะที่ยา cimetidine มีผลเพิ่มค่า pH ในกระเพาะอาหาร แสดงว่าฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของตำรับยาจันทน์ลีลาไม่ได้เกี่ยวข้อง กับฤทธิ์ในการยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร (3)
- ฤทธิ์ต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
การศึกษาผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของตำรับยาจันทน์ลีลาในอาสามัครสุขภาพดี จำนวน 24 คน อายุ 19-30 ปี โดยให้รับประทานยา ขนาด 750 มก./ครั้ง (เม็ดละ 250 มก. จานวน 3 เม็ด) ทุก 8 ชั่วโมง 3 ครั้งติดต่อกัน ทำการเจาะเลือดอาสาสมัครก่อนได้รับยา และที่เวลา 8, 32 ชม. และ 8-10 วัน ภายหลัง การให้ยาครั้งแรก วัดผลการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดโดยใช้เครื่อง aggregometer และ microplate reader โดยสารกระตุ้นการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่ใช้ คือ adrenaline, และ adenosine diphosphate (ADP) พบว่ายาจันทน์ลีลาไม่มีผลต่อการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดไม่ว่าจะใช้ adrenaline หรือ ADP เป็นสารกระตุ้น ทั้งการวัดด้วยวิธี aggregometer และ microplate reader และไม่พบอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา สรุปได้ว่าตำรับยาจันทน์ลีลาสามารถใช้ลดไข้ได้โดยไม่มีผลต่อการเกาะกลุ่มและจำนวนเกล็ดเลือดของผู้ป่วย (5)
หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ
การทดสอบความเป็นพิษ
การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของตำรับยาจันทน์ลีลาในหนูแรท โดยป้อนสารสกัด 95% เอทานอลจากตำรับยา ขนาด 5 ก./กก. น้ำหนักตัว เพียงครั้งเดียว พบว่าไม่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลัน ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทำให้หนูตาย และไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะภายใน และการศึกษา พิษกึ่งเรื้อรัง โดยป้อนสารสกัด ขนาด 600, 1,200 และ 2,400 มก./กก. เป็นเวลา 90 วัน พบว่าสารสกัด ทุกขนาดไม่ก่อให้เกิดพิษ และไม่มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยาและค่าทางชีวเคมีในเลือดของหนู (6)
เมื่อให้สารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากตำรับยาจันทน์ลีลาโดยกรอกทางปาก ฉีดเข้าใต้ผิวหนังและ ฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ในขนาด 1, 3 และ 10 ก./กก. พบว่ายาจันทน์ลีลาไม่แสดงอาการพิษเมื่อให้ทางปาก แต่เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังและช่องท้องในขนาดสูง (10 ก./กก.) หนูมีอาการซึมเล็กน้อยในระยะเวลา 2 ชั่วโมงหลังฉีด มีอาการยืดตัวไปมาเนื่องจากระคายเคืองในช่องท้อง (wrighting effect) เล็กน้อย แต่ไม่มีการตาย และมีค่า LD50 = 13.22 ก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง ในการทดสอบพิษกึ่งเรื้อรังโดยให้หนูแรทกินอาหารที่ผสมยาจันทน์ลีลาในขนาด 0.5, 5 และ 10% ของน้ำหนักอาหาร ซึ่งคิดเป็น 4, 40 และ 80 เท่าของขนาดของยาที่ใช้รักษาในคน เป็นเวลา 6 เดือน พบว่ายาจันทน์ลีลาไม่มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของหนู ไม่พบความผิดปกติของค่าทางโลหิตวิยาและชีวเคมีของเลือด และไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะภายในของหนู (7)
จากข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยจะเห็นได้ว่า ตำรับยาจันทน์ลีลามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาตามสรรพคุณ ที่ได้กล่าวอ้าง คือ แก้ไข้ แก้ปวด และต้านการอักเสบ และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจ ในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตำรับยาที่จะนำมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ และเป็นการสนับสนุนและเผยแพร่ตำรับยาที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน
เอกสารอ้างอิง
- ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 184 ง วันที่ 10 สิงหาคม 2558.
- สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ ยุวดี วงษ์กระจ่าง รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล รัตนา นาคสง่า บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล. ฤทธิ์ลดไข้ของยาตำรับจันท์ลีลา. วารสารสมุนไพร 2544;8(1):24-30.
- Sireeratawong S, Khonsung P, Piyabhan P, Nanna U, Soonthornchareonnon N, Jaijoy K. Anti-inflammatory and anti-ulcerogenic activities of Chantaleela recipe. Afr J Tradit Complement Altern Med 2012;9(4):485-94.
- ธนกร วิเวก ชยันต์ พิเชียรสุนทร จุลรัตน์ คนศิลป์ ประทีป เมฆประสาร พรรณี ปิติสุทธิธรรม. การทดสอบยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณจันท์ลีลาทางคลินิก. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2550;6(2):62.
- Itthipanichpong R, Lupreechaset A, Chotewuttakorn S, et al. Effect of Ayurved Siriraj herbal recipe Chantaleela on platelet aggregation. J Med Assoc Thai 2010;93(1):115-22.
- Sireeratawong S, Chiruntanat N, Nanna U, Lertprasertsuke N, Srithiwong S, Soonthornchareonnon N, Jaijoy K. Acute and subchronic toxicity of Chantaleela recipe in rats. Afr J Tradit Complement Altern Med 2013;10(1):128-33.
- วันทนา งามวัฒน์ ปราณี ชวลิตธำรง อุไรวรรณ เพิ่มพิพัฒน์ โอรส ลีลากุลธนิต เอมมนัส อัมพรประภา จรินทร์ จันทร์ฉายะ รังสรรค์ ปัญญาธัญญะ. ความเป็นพิษของยาแก้ไข้จันท์ลีลาในสัตว์ทดลอง. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2530;29(4):299-305.
ขอบคุณข้อมูลจาก MED HERB GURU อรัญญา ศรีบุศราคัม สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล