ในสถานการณ์ที่มีน้ำท่วมขังเช่นนี้ หลากพื้นที่เริ่มประสบปัญหาทางสุขภาพก โรคที่มากับน้ำยอดฮิตโรคหนึ่งก็คือ น้ำกัดเท้า เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระบบอื่นได้เช่นกัน โดยอาการน้ำกัดเท้าสามารถพบได้หลังจากแช่น้ำนานเกิน 1 ชั่วโมง โดยจะมีผิวหนังเปี่อย ผื่นคัน แสบ แดง บางรายทำมีหนังกำพร้าหลุดหรือเกิดรอยแตกทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ ต้องระวังมากขึ้นในผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน โรคไต ภูมิแพ้ผิวหนัง และ สะเก็ดเงิน เมื่อเป็นแล้วอาจจะทำให้มีอาการเป็นมากกว่าคนอื่นๆได้
อาการของน้ำกัดเท้า แบ่งเป็น 3 ระยะที่พบได้บ่อย คือ ระยะแรก ผิวหนังเปื่อย แดง คันและแสบ ระยะที่สอง อาจพบการติดเชื้อของแบคทีเรีย ผิวหนังมีอาการบวม แดง หรือมีน้ำเหลืองมีหนองซึม และระยะที่สามอาจพบอาการที่มากขึ้น มีความแดง ผิวเป็นขุย เปียกมีกลิ่นเหม็น อาจมีการติดเชื้อราพบผิวหนังเปื่อยขาว
การดูแลรักษา บรรเทาอาการด้วยสมุนไพรใกล้ตัว
- สมุนไพรรสฝาด : สมุนไพรรสฝาด ช่วยสมานแผลในทางแผนไทย โดยเมื่อเริ่มมีอาการของโรคน้ำกัดเท้า ให้นำสมุนไพรที่มีรสฝาด เช่น เปลือกมังคุด เปลือกมะขามป้อม ใบฝรั่ง หมาก สีเสียด มาต้มเคี่ยวประมาณ 30 นาที ให้ได้น้ำยารสฝาด จากนั้นรอให้อุ่นแล้วนำไปแช่เท้า ประมาณ 5-10 นาที แล้วเช็ดให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก โดยน้ำยาที่ได้นี้จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ฝาดสมานช่วยตกตะกอนโปรตีน ทำให้ผิวหนังกระชับ เป็นอีกทางช่วยให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังได้ยากขึ้น
เรื่องน่ารู้ : สมัยก่อน ชาวนาที่ต้องแช่เท้าดำนาทั้งวัน ก่อนขึ้นเรือนหลังจากล้างเท้าให้สะอาดแล้วจะจุ่มเท้าลงในน้ำที่แช่เปลือกมะขามป้อมหรือเปลือกกระโดนแล้วค่อยขึ้นเรือน เท้าจึงปลอดภัยจากเชื้อโรค
- ใบพลู : เน้นใช้ใบแก่นำมาตำให้ละเอียด ใส่เกลือเล็กน้อย และใส่น้ำหรือเหล้าขาวพอชุ่ม นำมาทาบริเวณที่เป็นโรค เช้า-เย็น ต่อเนื่องจนกว่าโรคจะหาย
ใบพลู เป็นยาพื้นบ้านที่นิยมใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้คัน แก้ลมพิษ รักษากลาก เกลื้อน ฝี หนอง การศึกษาพบว่า ในใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย Betal oil ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แต่การใช้ใบพลูอาจพบว่า ผิวหนังบริเวณที่ถูกทาจะมีสีคล้ำขึ้นแต่จะจางหายไปเมื่อเลิกใช้
- ข่า : ใช้ข่าแก่ หั่นเป็นแว่น หรือชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำไปตำพอแตก ผสมแช่กับเหล้าขาว หรือแอลกอฮอลล์ ทิ้งไว้ 15 วัน นำยาที่ได้มาใช้ อาจใส่เป็นขวดสเปรย์ฉีดพ่นที่มีอาการ
ข่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ รักษาเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา กลากเกลื้อน แก้ลมพิษ บรรเทาอาการคัน และรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้
- ใบชุมเห็ดเทศ : นำใบชุมเห็ดเทศ 1 กำมือ ล้างสะอาด โขลกให้ละเอียด แช่ในเหล้าขาว หรือแอลกอฮอล์ พอท่วมไว้ประมาณ 7 วัน แล้วนำยาที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นโรค
ชุมเห็ดเทศ มีสรรพคุณฆ่าเชื้อรา กลากเกลื้อน บรรเทาอาการคัน รักษาแผลเปื่อย และรักษาโรคน้ำกัดเท้า
- กระเทียม : กระเทียมเป็นสมุนไพรรสเผ็ดร้อน มีสารชื่อ อะโจอีน(ajoene) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา มีการศึกษาในการรักษาผู้ป่วยน้ำกัดเท้า พบว่า ใช้สารอะโจอีน 1% ให้ผลการรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ดีกว่าใช้ครีมรักษาโรคน้ำกัดเท้าในปริมาณ 1% เท่ากัน แต่กระเทียมจะทำให้มีอาการแสบร้อนผิวได้บ้าง
วิธีการทำ นำกระเทียมมาทุบให้เกิดน้ำมัน หรือฝานเป็นแว่น นำมาทาตรงบริเวณที่มีอาการก็วันละ 1-2 ครั้ง จนอาการดีขึ้น
- ขมิ้นชัน : เป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน มีการพัฒนาเป็นรูปแบบยาและเครื่องสำอางที่หลากหลายเพื่อช่วยในการดูแลผิว สำหรับการบรรเทาอาการน้ำกัดเท้า ให้นำขมิ้นชันสดฝนกับน้ำต้มสุก หรือนำผงขมิ้นชันผสมกับน้ำสะอาดเล็กน้อย ทาบริเวณที่มีอาการ เพื่อช่วยบรรเทาอาการผดผื่นคัน ฆ่าเชื้อรา
- ทองพันชั่ง : เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้รักษาโรคผิวหนังมานาน เข้ายารักษาผิวหนังหลายตำรับ ในทองพันชั่งมีสาร Diospyrol ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา รักษากลากเกลื้อน ต้านการอักเสบ ใช้บรรเทาผิวหนังอักเสบได้ วิธีการใช้ นำทองพันชั่ง 1 กำมือ ตำละเอียดคั้นน้ำ หรือนำมาพอกบริเวณที่มีอาการ วันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะดีขึ้น (หรือนำมาต้มเดือดใช้น้ำยาแช่เท้า 5 นาที จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้งโดยไม่ต้องล้างออก)
สิ่งสำคัญในการดูแลรักษาน้ำกัดเท้า คือ ควรหมั่นล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากเดินไปสัมผัสน้ำท่วมขัง และเช็ดให้แห้ง ระวังความอับชื้น ใส่ถุงเท้าหรือรองเท้าที่สะอาดแห้งไม่เปียกเพียงเท่านี้ก็จะสามารถช่วยป้องกันโรคน้ำกัดเท้าได้อีกวิธีหนึ่ง หากมีอาการเป็นมากขึ้น หรือใช้สมุนไพรแล้วไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไปค่ะ
………………..
เรื่องโดย : พท.ป.เบญจวรรณ หมายมั่น
Facebook : สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โทร 037-211289 (ทุกวัน เวลาราชการ)
คลินิกแพทย์แผนไทยออนไลน์ : @abhthaimed