กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ๔ ภาคร่วมสานต่อ “โครงการมหกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย ปีที่ 11 ระดับภาค” ชูผลงานต่อยอดให้ปรากฎแก่สายตาคนทั้งประเทศ
วันที่ ( ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒ ) ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จังหวัดนนทบุรี เวลา ๑๑.๐๐ น. นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมคณะผู้บริหารจากจังหวัดสมุทรปราการ,จังหวัดลำพูน,จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดนราธิวาส ร่วมแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน เกี่ยวกับ “การจัดงานโครงการมหกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย ปีที่ 11 ระดับภาค ปี ๒๕๖๒” มีการจัดกิจกรรมส่งเสริม อนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยทั้ง 4 ภาค โดยปีนี้เริ่มจังหวัดแรกคือ ภาคกลางและภาคตะวันออก จ.สมุทรปราการ ณ ลานน้ำพุ ศูนย์การค้าเมกะบางนา (วันที่ ๗ – ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) , ครั้งที่ ๒ ภาคเหนือ จ.ลำพูน ณ แจ่มฟ้าพลาซ่า (วันที่ ๑๔ – ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) ครั้งที่ ๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ ณ โรงแรมทองธารินทร์ ( ๒๐ – ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒)และ ครั้งที่ ๔ ภาคใต้ จ.นราธิวาส ณ สวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (๑๐ – ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒) จึงขอเชิญชวนประชาชนที่อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยที่สนใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในจังหวัดใกล้เคียงที่ท่านอาศัย สอบถามรายละเอียดได้ที่กลุ่มสื่อสารองค์กร กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร ๐ ๒๑๔๙ ๕๖๗๕ , ๐ ๒๑๔๙ ๕๖๗๘ หรือติดตามรายละเอียดที่ www.dtam.moph.go.th
โดยกิจกรรมเด่นของแต่ละภาคที่มานำเสนอในปีนี้ ได้แก่ ภาคกลาง เปิดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเหงือกปลาหมอก้าวไกลสู่สากล ชูตำรับยาพอกเข่าสูตรเจลาติน พัฒนาเพื่อให้สะดวกและปลอดภัยกับผู้บริโภคเหมาะกับสังคมเมืองในยุคปัจจุบัน ภาคเหนือ เปิดตำรับยาล้านนา “ตำฮายาหริภุญชัย” ที่ได้แปลและรวบรวมตำรับยาออกเป็น 11 กลุ่มโรคอาการ พบเครือข่ายป่าชุมชนสอดคล้องตามแผนจัดการเพื่อคุ้มครองถิ่นกำเนิดของพืชสมุนไพรภาคเหนือ นิทรรศการภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา “การตอกเส้น” และผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร GMP เขตสุขภาพที่ 1 จาก รพ.ป่าซาง จ.ลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดแสดง “หมอเด่น ยาดี เชิญที่อีสาน” นำเสนอหมอพื้นบ้านอีสานที่ได้รับการยกย่องให้เป็น หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งเป็นภาคที่มีหมอไทยดีเด่นระดับชาติจำนวนมากที่สุด พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นของแต่ละจังหวัดของภาคอีสาน สาธิตการรักษาแบบพื้นบ้านภาคอีสาน เช่น การลากไข่วินิจฉัยโรค สมุนไพรรักษาพิษงู และเฝือกไม้ไผ่ ภาคใต้ ชูการนวดลังกาสุกะ เป็นการนวดน้ำมันเกิดขึ้นจากการรวบรวมองค์ความรู้จากหมอพื้นบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำมาผสมผสานเข้ากับการนวดแผนไทยตำรับราชสำนัก พบองค์ความรู้โต๊ะบีแด กับการใช้สมุนไพรรักษาแผลฝีเย็บในมารดาหลังคลอดของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
………………………………………….