วันที่ 7 ตุลาคม 2564 นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วย นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะ ลงพื้นที่โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ และตรวจ คันป้องกันน้ำท่วมชนิดพับเก็บได้ของกรมฯ มั่นใจระบบป้องกันน้ำท่วมของกรมฯสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวว่าจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถานที่วัดไชยวัฒนาราม และสถานที่อนุรักษ์สำคัญ ริมแม่น้ำอื่นๆของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น วัดธรรมาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร วัดพนัญเชิงวรวิหาร และวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ซึ่งกรมฯ ได้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม โดยใช้คันป้องกันน้ำท่วมชนิดพับเก็บได้เพื่อลดการบดบังทัศนียภาพของวัด ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงฤดูน้ำหลากหลายปีที่ผ่านมา และในปีนี้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มีมวลน้ำท่วมสูงขึ้น กรมฯยังมั่นใจระบบป้องกันน้ำท่วมของกรมฯ จะสามารถป้องกันโบราณสถานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประสานกับหน่วยงานต่างๆ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับคันป้องกันน้ำท่วมชนิดพับเก็บได้บริเวณวัดไชยวัฒนาราม กรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับ กรมศิลปากร ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2553 ประกอบด้วย โครงสร้างป้องกันน้ำซึมลอดใต้ดิน และบานพับสแตนเลสเป็นกำแพงป้องกันน้ำด้านแม่น้ำเจ้าพระยามีความยาวทั้งสิ้น 180 เมตร ส่วนด้านข้างและด้านหลังมีกำแพงคอนกรีตความยาวรวม 425 เมตร มีระดับป้องกันปกติที่ +5.40 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และกรมศิลปากรมีการเสริมระดับป้องกันบานสแตนเลสให้สามารถป้องกันที่ระดับความสูง +6.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยประตูบานพับจะมีความสูงในแนวดิ่งประมาณ 2.00 เมตรจากฐาน และเมื่อเสริมแล้วจะมีความสูงเพิ่มเป็น 2.50 เมตร สามารถพับเก็บได้เมื่อน้ำลดระดับลง เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพความสวยงามของโบราณสถาน ซึ่งเป็นระบบป้องกันน้ำท่วมรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้ปริมาณน้ำบริเวณหน้าวัดไชยวัฒนารามมีความสูงอยู่ที่ +5.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับป้องกันสูงสุด อยู่ประมาณ 1.00 เมตร ซึ่งกรมฯ มั่นใจว่าจะสามารถป้องกันระดับน้ำในปีนี้ได้ และยังเฝ้าติดตามสังเกตการณ์ร่วมกับกรมศิลปากรอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีระบบป้องกันน้ำท่วมในลักษณะเดียวกันนี้ ที่กรมฯ ได้ออกแบบและก่อสร้าง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาทิเช่น วัดธรรมาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร วัดพนัญเชิงวรวิหาร และวัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร ซึ่งในขณะนี้บานป้องกันน้ำท่วมทุกแห่งได้เปิดใช้งาน เพื่อการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่สำคัญดังกล่าว
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร และหน่วยงานภายในจังหวัดฯ เฝ้าติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมวลน้ำที่จะไหลมาเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิ่มสูงขึ้น นอกจากระบบป้องกันน้ำท่วมชนิดพับเก็บได้ที่กรมฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างเพื่อป้องกันโบราณสถานที่สำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว กรมฯ ยังได้ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมทั้งพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ศูนย์ราชการ และพื้นที่โบราณสถานในเขตพื้นที่เกาะเมือง พื้นที่อโยธยา และพื้นที่เสนา – สามกอ (พื้นที่ป้องกัน 15.00 ตารางกิโลเมตร มีผู้ได้รับประโยชน์ 15,994 ครัวเรือน)มีระดับป้องกันที่ +5.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งในปีนี้ระบบป้องกันน้ำท่วมของกรมฯ ยังสามารถป้องกันพื้นที่ชุมชน ซึ่งสามารถลดความเสียหายได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ ปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม กรมฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 177 พื้นที่ชุมชน (256 โครงการ) ใน 60 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญของจังหวัด มีผู้ได้รับประโยชน์ 1,399,694 ครัวเรือน ซึ่งกรมฯ ได้ประสานกับแต่ละจังหวัด เพื่อติดตามตรวจสอบโครงการให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ในส่วนพื้นที่อื่นๆ กรมฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนตามที่ได้รับการเห็นชอบแผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ตามความเร่งด่วน โดยพิจารณาให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชน มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เจ้าของพื้นที่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน และประเทศชาติต่อไป