“เอนก” ลั่น “ช้างเผือกมักจะเกิดในป่าลึก” หนุนสร้างความเสมอทางการศึกษา อว. ดึงเด็กด้อยโอกาสมาจัดระบบการเรียนการสอนพร้อมทั้งระบบสนับสนุนเป็นพิเศษ เปลี่ยนผู้ด้อยโอกาสให้เป็น “หัวกะทิทางการศึกษา” ชี้ไม่เพียงแค่ลดเหลื่อมล้ำแต่ยังเป็นการเติมเต็มคนคุณภาพให้ประเทศ
วันที่ 7 ตุลาคม 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้ขาด แคลนทุนทรัพย์ระดับอุดมศึกษา โดยมี นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รองศาสตราจารย์สมหมาย ผิวสะอาด ประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรูญ ถาวรจักร ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ ร่วมลงนาม ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
ดร.เอนก กล่าวว่า การศึกษาคือการสร้างคนและสร้างโอกาส ความเสมอภาคทางการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ อว. จึงให้ความสำคัญกับการให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ถือเป็นทรัพยากรมนุษย์และเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศ หากเราสามารถเปลี่ยนพวกเขาจากผู้รับความช่วยเหลือให้เป็นผู้ที่สามารถสร้างรายได้และทำงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศได้ ที่สำคัญ ผลจากการให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่แค่ช่วยให้คนที่ขาดแคลนได้ร่ำเรียนเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงความเป็นเลิศและคุณภาพทางการศึกษาของประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างที่ตนได้พบเห็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์มากมาย ที่เดิมเป็นช้างเผือกอยู่ท้องถิ่นห่างไกลหรือเป็นคนชายขอบ หลายคนมีสถานะที่ลำบาก แต่เมื่อได้รับโอกาสทางการศึกษาก็ได้กลายมาเป็นผู้ที่สามารถทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองได้อย่างมหาศาล
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีช้างเผือกไม่น้อยที่มีคุณภาพสูง เพราะธรรมชาติของเด็กเหล่านี้จะมีความอดทน มุ่งมั่น พร้อมฝ่าฟันอุปสรรค เราจึงต้องนำพวกเขามาฟูมฟักและฝึกปรือ โดย อว. จะต้องมีการดูแลและจัดระบบการเรียนการสอนพร้อมทั้งระบบสนับสนุนเป็นพิเศษ เพื่อทำให้เด็กเหล่านั้นสามารถแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวได้อย่างเต็มที่ เหมือนที่ตนเคยพูดอยู่บ่อยครั้งว่า ช้างเผือกมักจะเกิดในป่าลึก หากได้พวกเขามาเป็นกำลังในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศ ที่เรียกว่า Frontier Research เขาจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนอื่น ๆ ได้เห็นว่าผู้ด้อยโอกาสก็มีความสามารถหากได้รับโอกาสที่เหมาะสม เราจะเปลี่ยนจากผู้ด้อยโอกาสให้เป็นผู้มีโอกาส เป็น “หัวกะทิ” ทางการศึกษา เช่น ให้พวกเขาได้มีส่วนในการสร้างยานอวกาศของไทยไปโคจรรอบดวงจันทร์ เป็นต้น ตนเชื่อว่า ถ้าทำได้จะเป็นการช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมไทยได้อย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา แต่พวกเขาเหล่านี้ยังเข้ามาเติมเต็มในเรื่องกำลังคนที่มีคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้
ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ บูรณาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลการส่งต่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาตลอดจนการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการและนโยบายด้านการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา