นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการเปิดงานสัมมนาและบรรยายพิเศษในงาน “อนาคตส่งออกไทยกับพลวัตของสงครามการค้า” ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยจัดขึ้น เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทย รับมือสถานการณ์การค้าโลก ปี 2562 โดยเฉพาะปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ จีน และผลที่จะเกิดขึ้นต่อการค้าโลก รวมทั้งไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทย เช่น อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เหล็กและอลูมิเนียม ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม เป็นต้น ร่วมเสวนาวิเคราะห์สถานการณ์ แลกเปลี่ยนมุมมองต่อโอกาสทางการค้า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย โดยมีผู้สนใจจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 300 คน
นางอรมน กล่าวว่า “ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เริ่มมีข่าวว่าสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจมีแนวโน้มดีขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศได้พบหารือกันเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาทางออกต่อปัญหาทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจีนอาจเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดช่องว่างการขาดดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งหากสองฝ่ายสามารถหาข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจร่วมกันได้ ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคธุรกิจ และเป็นบรรยากาศที่ดีต่อการค้าและการลงทุนของโลก ขณะเดียวกันไทยจะต้องเตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจากจีนลดลง เนื่องจากจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแทนการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น จะมีผลต่อการส่งออกของไทยไปจีนหรือไม่ อย่างไร หรือหากจีนพิจารณาย้ายฐานการผลิตสินค้าบางส่วนจากจีนไปตั้งในประเทศที่สาม เพื่อลดการส่งออกโดยตรงจากจีนไปสหรัฐฯ ไทยจะสามารถดึงดูดจีนมาลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร และในสาขาการผลิตใด”
นางอรมน เสริมว่า จากมาตรการทางการค้าที่ทั้งสองประเทศใช้ในปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงของไทยจากมาตรการของทั้งสองประเทศ ในเบื้องต้น พบว่ามีสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ สูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้า ICT ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน เช่น น้ำมันปิโตรเลียมดิบ สินค้าเกษตร จำพวกผลไม้ และกุ้งแช่แข็ง ในขณะเดียวกัน สินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐฯ ตามมาตรา 232 ทำให้การส่งออกเหล็กและท่อเหล็กของไทยลดลงในปี 2561 ส่วนผลกระทบทางอ้อม ที่อาจเกิดขึ้นคือการเบี่ยงเบนทางการค้าของสินค้ามายังประเทศไทย โดยไทยมีการนำเข้าเหล็กจากจีนเพิ่มขึ้นในปี 2561 และยังมีสินค้าที่จีนส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์บางรายการ และในปัจจุบันสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนว่าจะประกาศใช้มาตรา 232 กับสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะประกาศใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากประเทศต่างๆ ผู้ประกอบการไทยก็จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
“ในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลก จึงต้องติดตามสถานการณ์ทางการค้าที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 อย่างใกล้ชิด รวมทั้งสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพราะมาตรการทางการค้าที่ทั้งสองฝ่ายใช้ต่อกัน อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยได้ งานสัมมนาครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อเปิดให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากภาคส่วนต่างๆ ได้ฟังการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการค้าจากผู้เชี่ยวชาญทั้งนักวิชาการสายเศรษฐกิจ และภาคเอกชนนักธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อรักษาโอกาสและขยายการส่งออกของไทย” นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2561 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวม 80,136.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 8.67 ขณะที่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวม 43,116 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 4.22
————————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์