ครูพื้นที่สูงขอบคุณ “ตรีนุช” ดูแลขวัญกำลังใจครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบาก หนุนชงให้ ครม. อนุมัติระเบียบเงินเพิ่มพิเศษฯ

ตัวแทนครูพื้นที่สูงขอบคุณ รมว.ศธ หลังจากที่ ก.ค.ศ. มีมติอนุมัติ (ร่าง) ระเบียบเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษจากสภาพการทำงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบากชี้เป็นนโยบายที่มองเห็นถึงสภาพปัญหาในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ยากลำบาก สามารถสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ยากลำบากได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยเรื่องการจัดการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง พร้อมวอน ครม. พิจารณาอนุมัติ

นายปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า จังหวัดน่าน ประธานชมรมนักจัดการศึกษา บนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร เปิดเผยหลังทราบมติการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 10/2564 ว่า ตนมีความดีใจและรู้สึกขอบคุณ  เป็นอย่างยิ่งที่ ก.ค.ศ. โดยท่าน รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญและมองเห็นถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคของผู้ปฏิบัติงาน ในพื้นที่ยากลำบาก เนื่องจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบากนั้น มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค การคมนาคม ตลอดจนความลำบากในการดำเนินชีวิตของครู อาทิเช่น เส้นทางคมนาคมมีความห่างไกลทุรกันดาร ระบบน้ำประปาที่ยังต้องใช้น้ำจากภูเขา ระบบไฟฟ้า โทรศัพท์ ระบบอินเตอร์เน็ตที่ยังเข้าไม่ถึงโรงเรียนที่ห่างไกลทุรกันดาร ปัญหาการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนชนเผ่า ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ตลอดจนโรงเรียนที่มีนักเรียนพักนอนอยู่ในโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาอนุมัติเรื่องระเบียบเงินเพิ่มพิเศษสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของกระทรวงศึกษาธิการ ในการพยายามที่จะดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง

 “ ในพื้นที่ยากลำบาก ครูทุกคนมีต้นทุนที่ติดลบ มีความยากลำบากในการบริหารจัดการสถานศึกษาและการจัดการศึกษา จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในสถานการณ์ปัจจุบันโรงเรียนเหล่านี้จะมีแต่ครูบรรจุใหม่ ซึ่งเมื่อทำงานได้ครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วก็จะเขียนคำร้องขอย้าย ครูเหล่านั้นจะย้ายไปพร้อมกับความเก่งหรือประสบการณ์ทำงาน    ที่มากกว่าตอนบรรจุใหม่เป็นวัฏจักรหมุนวนกันไป และยังมีปรากฎการณ์ที่น่ากังวลต่อระบบการจัดการศึกษาในพื้นที่ทุรกันดาร คือ มีผู้ขอสละสิทธิ์การบรรจุเข้ารับราชการ เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผมมีความคิดเห็นว่า หากสามารถทำให้ครูที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่    มีแรงจูงใจในการปฏิบัติงานได้ยาวนานมากขึ้น ก็จะทำให้ครูมองเห็นวิธีการบริหารจัดการหรือจัดการเรียนรู้ที่เหมาะกับบริบทนั้น ๆ และสามารถลดเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาได้ ซึ่งระเบียบเงินเพิ่มพิเศษที่กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีนโยบายลงสู่ครูผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบาก ผมคิดว่าจะสามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครูผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบากได้อย่างดียิ่ง และจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญแก่ครูปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ยากลำบาก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ลักษณะพิเศษ และช่วยลดช่องว่างของคุณภาพการศึกษาระหว่างพื้นที่ลักษณะพิเศษ และพื้นที่ในเขตเมืองให้น้อยลง นั่นคือช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั่นเอง ดังนั้น ผมจึงขอให้ ครม. โปรดพิจารณาอนุมัติระเบียบเงินเพิ่มพิเศษ สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบาก เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ครูผู้ปฏิบัติงานด้วยครับ”  นายปกรณ์ กล่าว

ด้าน นายศุภโชค ปิยะสันติ์ ประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาในพื้นที่สูง และถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยกับนโยบายนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในฐานะที่ตนเองทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาในพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร จึงทำให้ทราบถึงสภาพปัญหาเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่มีความยากลำบากในพื้นที่เป็นอย่างดี และการที่กระทรวงศึกษาธิการได้มองเห็นสภาพปัญหาและให้ความสำคัญกับครูผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ยากลำบากโดยได้มีนโยบายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. จัดทำระเบียบเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษจากสภาพการทำงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบาก นั้น จึงเป็นนโยบายสำคัญที่สามารถดูแล และสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่ครูที่ทุมเทและทำงานในพื้นที่ยากลำบากอย่างแท้จริง จึงขอให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว เพราะหากบุคคลากรมีขวัญกำลังใจที่ดี ย่อมส่งผลดีต่อการปฏิบัติงาน ถ้าครูปฏิบัติงานด้วยความต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะมีประสบการณ์ คุ้นเคยและเข้าใจชุมชน ส่งผลให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ต่อไป

“ผมมีมุมมองว่าโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากลำบากเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีข้อจำกัในการทำงานทั้งการเดินทาง ความเป็นอยู่ และความยุ่งยากในการจัดการศึกษา ต้องออกแรงมากกว่าโรงเรียนปกติทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันมีอีกหลายโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงระยะทางห่างไกล บางโรงเรียนอยู่ในพื้นที่เกาะที่ต้องจ้างเหมาเรือเพื่อเข้าไปปฏิบัติงาน การเดินทางบางฤดูกาลมีความเสี่ยงและอันตราย หลายโรงเรียนระบบสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า และน้ำประปายังไม่สมบูรณ์ จึงเห็นเพื่อนครูหลายโรงเรียนที่ใช้น้ำประปาภูเขาซึ่งน้ำจะขุ่นมากในฤดูฝน ทำให้เกิดความลำบากในการดำรงชีวิต และเพราะปัจจัยดังกล่าว ทำให้พบว่า โรงเรียนเหล่านี้มีอัตราการโยกย้ายสูง จึงส่งผลต่อความต่อเนื่องในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผมจึงขอเป็นตัวแทนพี่น้องครูที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ยากลำบากทั่วประเทศขอบพระคุณ ท่านตรีนุช เทียนทอง กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ของครูกลุ่มดังกล่าว และหวังว่า ครม. จะมีมติเห็นชอบกับแนวทางในการสร้างขวัญกำลังใจแก่คณะครูและบุคลากรในฐานะผู้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอันจะนำมาซึ่งคุณภาพการศึกษาโดยรวมต่อไป”  นายศุภโชค กล่าว