นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กระแสสังคมในปัจจุบันกำลังให้ความใส่ใจกับสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น โดยมีการเรียกร้องให้ภาคการเลี้ยงสุกรปฏิบัติต่อสุกรอย่างมีมนุษยธรรม รวมทั้งความตระหนักถึงปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเชื้อดื้อยานี้ถือเป็นภัยคุกคามที่ต้องเฝ้าระวังระดับโลก ส่งผลให้การผลิตสุกรในประเทศไทยต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมตามบริบทสังคมยุคนี้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและสนับสนุนเกษตรกรฟาร์มสุกร ได้ประสานองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ช่วยให้ฟาร์มสุกรพัฒนารูปแบบการเลี้ยงจากเดิมสู่การทำฟาร์มเชิงปราณีตให้มากขึ้นในทุกมิติ ทั้งการปรับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันโรคสุกรต่างๆ เข้าสู่ฟาร์ม ดังจะเห็นจากความสำเร็จในการป้องกันโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย ทำให้สุกรจากไทยยังผลิตและส่งออกไปบางประเทศได้ แต่การป้องกันและควบคุมโรคเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์สังคมในปัจจุบัน ต้องมีการพัฒนาการจัดการสวัสดิภาพสุกรให้ดีขึ้น รวมทั้งการควบคุมและลดการใช้ยาปฎิชีวนะในฟาร์มให้เหมาะสม ถือเป็นประเด็นสำคัญที่กรมปศุสัตว์เร่งผลักดันมาตรฐานและมาตรการต่างๆ เพื่อยกระดับให้ฟาร์มสุกรมีการพัฒนาจากเดิม ดังนี้
1.การยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ของฟาร์มสุกร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ในการทำฟาร์มปศุสัตว์ทุกชนิด ในส่วนของการผลิตสุกรได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ดำเนินการจัดตั้งกรรมการวิชาการที่มาจากกรมปศุสัตว์ สถาบันการศึกษาและภาคเกษตรกร เพื่อยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักการด้านสวัสดิภาพสัตว์ : ระบบการผลิตสุกร ซึ่งนำต้นแบบตามมาตรฐานสากลขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health ; OIE) มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งภายใต้หลักการนี้เน้นให้ฟาร์มมีการจัดการให้สุกรได้รับการดูแลที่ดีตามหลักอิสระ 5 ประการ โดยสามารถประเมินความเหมาะสมได้โดยการประเมินผลลัพธ์ของการจัดการ (outcome-base measurable) ผ่านตัวชี้วัดด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare indicators) ซึ่งขณะนี้มาตรฐานนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำเพื่อประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่ให้ฟาร์มสุกรได้ศึกษาและปรับรูปแบบการเลี้ยงให้สอดคล้องตามหลักการสากลต่อไป อีกทั้งจะถูกใช้เป็นแนวทางประกอบการตรวจประเมินมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร หรือ GAP ฟาร์มสุกรซึ่งถูกปรับปรุงขึ้นใหม่จากมาตรฐานฉบับเดิมซึ่งออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยฉบับเดิมเป็นมาตรฐานทั่วไป ภาคสมัครใจ แต่สำหรับฉบับที่กำลังปรับปรุงนั้นจะถูกยกระดับเป็นมาตรฐานบังคับสำหรับฟาร์มสุกรที่มีสุกรขุนตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป หรือมีแม่พันธุ์สุกรตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไป ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาก่อนประกาศบังคับใช้ เมื่อมีการบังคับใช้คาดว่าจะมีการยกระดับสวัสดิภาพสุกรในฟาร์มที่บังคับทั่วประเทศ เพราะเป็นหัวข้อที่สำคัญประเด็นหนึ่งที่ต้องตรวจรับรอง GAP
2. การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One health approach) เพื่อสู่สมดุลสุขภาพ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
กรมปศุสัตว์ได้ตระหนักถึงภัยร้ายของเชื้อดื้อยา โดยได้ขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามแผนระดับชาติ คือ “แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564” ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 โดยให้ภาคปศุสัตว์ควบคุมการใช้ “ยาปฏิชีวนะ”อย่างสมเหตุผลคือให้มีการใช้ยาเท่าที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อรักษาสุขภาพของสัตว์ที่เจ็บป่วย ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) และยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของการผลิตปศุสัตว์ให้เพียงพอต่อการบริโภค รวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ภายใต้การกำกับดูแลของสัตวแพทย์ที่ดูแลสุขภาพของสัตว์ในฟาร์มเหล่านั้น กรมปศุสัตว์จึงมีมาตรการควบคุมการใช้ยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ โดยมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมอาหารสัตว์ที่ผสมยา (Medicated feed) โดยการจะผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาได้ โรงงานนั้นจะต้องได้รับการรับรอง GMP และต้องมีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมระบบการผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาซึ่งได้รับการอบรมจากกรมปศุสัตว์ จึงจะสามารถจดแจ้งเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาได้ ทั้งนี้ การจะผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมยาต้องผลิตภายใต้ใบสั่งใช้ยา (Prescription) ของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ปี 2562 มีรายงานผ่านระบบ ICT ของกรมปศุสัตว์ พบว่ามีการผสมยาปฏิชีวนะลงในอาหารสัตว์ ณ โรงงานอาหารสัตว์ที่ผสมยาเพียง 1.8% ของสัดส่วนการผลิตอาหารสัตว์ทั้งหมด การใช้ยาในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติการควบคุมการใช้ยาสัตว์: มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9032-2552 ซึ่งเป็นข้อกำหนดหนึ่งของฟาร์ม GAP โดยควบคุมการใช้ยาให้ถูกต้อง ตรงตามฉลากยาที่ระบุไว้ตามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนยาจาก อย. และมีระยะหยุดยาก่อนส่งโรงฆ่าสัตว์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีโครงการเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ได้แก่ การลดใช้ยาปฏิชีวนะ การเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ (Raised without Antibiotics: RWA) รวมทั้งส่งเสริมการใช้สมุนไพร และโพรไบโอติกส์ ส่งผลให้ภาคการเลี้ยงสัตว์ที่มีเป้าประสงค์หลักตามแผนชาติให้ลดการใช้ยาในสัตว์ลด30% ภายในปี 2564 ซึ่งพบว่าข้อมูลปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ ปี 2562 เทียบกับปี 2560 มีการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ลดลงถึง 49% ควบคู่ไปกับระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาของกรมปศุสัตว์เพื่อทราบสถานะของเชื้อดื้อยา เพื่อลดและชะลอการดื้อยาที่เป็นภัยคุกคามทั้งในคนและสัตว์ต่อไป ทั้งนี้ รวมไปถึงการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมโดยกรมปศุสัตว์ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านนี้คือ กรมควบคุมมลพิษ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งประเทศไทยได้มีกรอบการทำงานร่วมกันในการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาที่สอดคล้องกับแนวทางขององค์การระหว่างประเทศ ทั้ง Tripartite (FAO/OIE/WHO) และ UNEP นำไปสู่การขยายผลจัดทำร่างแผนชาติเชื้อดื้อยาในอีก 5 ปี (ปี 2566-2570) อีกทั้งในทุกปีของเดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนได้ร่วมรณรงค์สัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก (World Antibiotic Awareness Week :WAAW) ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 18-24 พฤศจิกายน 2564 กรมปศุสัตว์เชื่อมั่นว่าการดำเนินการภายใต้ความเข้าใจในปัญหาของเชื้อดื้อยา ความตระหนักรู้ของการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การบังคับใช้มาตรฐาน GAP ฟาร์มสุกรที่ควบคุมการใช้ยาโดยสัตวแพทย์ รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาและเกิดความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมการผลิตสุกรภายใต้หลักความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) และหลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One health approach) ต่อไป
………………………………………………………………..
ข่าวและข้อมูลโดย : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) และกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ (อยส.) กรมปศุสัตว์ (3 ตุลาคม 2564)