รมว.แรงงาน นัดประชุมทบทวนปรับปรุงกฎหมาย C188 ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากข้อเรียกร้องชาวประมงและที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้แล้วเสร็จก่อนดำเนินการยื่นสัตยาบันใน 30 ม.ค.นี้
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมทบทวนและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคประมง พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการแพทย์ ศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และตัวแทนชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลได้เข้าร่วมประชุม ซึ่งแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินการให้สอดคล้องกับอนุสัญญา C188 เมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 โดยมีข้อสรุปร่วมกัน 11 ข้อ ได้แก่ 1) อัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน และการเรียกเงินคืนจากกองทุนฯ กรณีลูกจ้างอยู่ไม่ครบปี 2) การเปิดโอกาสให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กับประกันของภาคเอกชน ทดแทนการเข้าอยู่ในระบบของประกันสังคม 3) นิยาม “เรือประมงที่ทำการประมงเพื่อการค้า” ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านจะต้องถูกบังคับใช้ตามกฎหมายด้วยหรือไม่ 4) การจัดที่พักอาศัยบนเรือประมงมีผลบังคับใช้กับเรือขนาดและประเภทใดบ้าง 5) ความเหมาะสมเกี่ยวกับปริมาณ/คุณภาพของอาหารและเครื่องดื่ม 6) การนำเข้าแรงงานตาม MOU ใช้เวลานาน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างฝ่ายเดียว ทำให้แรงงานต่างด้าวไม่มีความรับผิดชอบ มักหลบหนีไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ 7) การตรวจสุขภาพ ไม่เห็นด้วยหาก สธ. จะเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มในการตรวจสายตาและการได้ยิน พร้อมขอให้จัดทำคู่มือ/แนวปฏิบัติในการส่งต่อผู้ป่วย 8) การนับชั่วโมงพักไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานบนเรือประมง โดยศูนย์ PIPO บางแห่งมีการตรวจนับชั่วโมงพักยาวติดต่อกัน 10 ชั่วโมง 9) ขอให้แก้ไขความซ้ำซ้อนของกฎหมายเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อลูกเรือ 10) การกำหนดอัตรากำลังตามขนาดของเรือไม่ชัดเจน และปัญหาจำนวนลูกเรือไม่ครบ ตามที่แจ้ง Port Out ทำให้ไม่สามารถออกทำการประมงได้ 11) เงื่อนไขการส่งตัวแรงงานกลับประเทศต้นทาง นายจ้างไม่ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายผิด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเรียกร้องของชาวประมงที่ต้องหารือเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ 1) แนวทางและประเภทเรือที่ต้องขอใบรับรองการตรวจสภาพเรือ 2) การเปิดโอกาสให้บุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป ฝึกงานในเรือประมงได้ 3) ปัญหาการจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคาร/ตู้เอทีเอ็มสร้างภาวะให้กับนายจ้าง/ลูกจ้าง เสนอให้แก้ไขกฎหมายให้สามารถจ่ายเป็นเงินสดและจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าได้ และข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่ได้ข้อสรุปร่วมกัน 4 ข้อ ได้แก่ 1) เสนอให้มีการควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์ PIPO 2) เสนอให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ VMS 3) เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับทำการประมง 4) ปัญหาการแจ้งเรือเข้า – ออก ณ ศูนย์ PIPO ในพื้นที่เกาะยาว จังหวัดพังงา ซึ่งมีเกาะแก่งและกระแสน้ำที่เป็นอุปสรรค
ไม่สามารถเดินเรือได้ตามกำหนดเวลา
—————————–
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว
/ศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน – ข้อมูล