ที่ประชุม ก.พ.อ. เฉียบขาดมีมติให้ทบทวนตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ของ มรภ.มหาสารคาม 43 ราย ฐานมีการปลอมแปลงเอกสารการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ที่ประชุม ก.พ.อ. เฉียบขาดมีมติให้ทบทวนตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ของ มรภ.มหาสารคาม 43 ราย ฐานมีการปลอมแปลงเอกสารการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
และปลอมแปลงลายเซ็นต์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 45 วันและให้สำนักงานปลัด อว. พิจารณาร้องทุกข์กล่าวโทษการทุจริตเพื่อหาผู้กระทำด้วย เผยมีมหาวิทยาลัยพิษณุโลกที่มีพฤติกรรมคล้ายกันอีก 51 ราย แบ่งเป็น ผศ. 42 ราย และ รศ. 8 ราย และ ศ. 1 ราย “เอนก” สั่งทำหนังสือถึงทุกสถาบันการศึกษาทั้งรัฐ-เอกชนระวังและป้องกันการเกิดทุจริตการขอตำแหน่งทางวิชาการ

วันที่ 30 กันยายน 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ได้มีการพิจารณาผลการตรวจสอบกระบวนการได้มาซึ่งตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ของคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม และมีมติตามมาตรา 14 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมขอให้สภามรภ.มหาสารคาม ทบทวนการแต่งตั้งบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ จำนวน 43 ราย แบ่งเป็นตำแหน่งและรองศาสตราจารย์ (รศ.) จำนวน 14 รายและผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) จำนวน 29 ราย โดย ก.พ.อ. มีความเห็นว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ดำเนินการตรวจสอบการได้มาซึ่งตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าว และพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีการปลอมแปลงลายเซ็นต์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้สภา มรภ.มหาสารคามเร่งพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และรายงานผลให้ ก.พ.อ. ทราบภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามทราบเหตุดังกล่าวด้วย

รมว.อว. กล่าวต่อว่า หากสภาฯ มิได้ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้าหรือไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ก.พ.อ. จะขอให้สำนักงานปลัด อว. เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาให้ข้อเสนอแนะ เพื่อ รมว.อว. จะได้ใช้อำนาจตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ต่อไป และที่สำคัญ ก.พ.อ. ขอให้สภา มรภ.มหาสารคาม พิจารณาด้วยว่ากรณีดังกล่าวมีผู้บริหารหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยกระทำความผิดทางวินัยด้วยหรือไม่ ถ้าพบว่ามีให้ดำเนินการทางวินัย และแจ้งผลการพิจารณาในส่วนนี้ให้ ก.พ.อ. ทราบภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งมตินี้ด้วยเช่นกัน

ดร.เอนก กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ก.พ.อ. ขอให้สภา มรภ.มหาสารคาม ปรับปรุงระบบการดำเนินการขอดำรงตำแหน่งทางวิชาการของข้าราชการพลเรือนรวมถึงการขอดำรงตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ.อ. กำหนด โดยเคร่งครัดตามความมาตรา 14 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งมีระบบตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต และการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งมตินี้ และรายงานให้ ก.พ.อ. ทราบ

“ก.พ.อ. ขอให้สำนักงานปลัด อว. พิจารณาร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีที่มีการปลอมแปลงเอกสารในการดำเนินการขอตำแหน่งทางวิชาการของ มรภ.มหาสารคาม ตามพยานหลักฐานที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ รวบรวมได้ เพื่อให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินการต่อไป” รมว.อว. กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ การประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ครั้งที่ 9/2564 มีมติในกรณีเกิดขึ้นที่คล้ายคลึงกับ มรภ.มหาสารคาม คือ การทุจริตการขอตำแหน่งวิชาการของ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก โดยให้สภามหาวิทยาลัย ถอดถอนตำแหน่ง 50 ราย เป็น ผศ. 42 ราย และ รศ. 8 ราย และ สป.อว. จะไม่นำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ ศ. 1 ราย โดยให้สภามหาวิทยาลัยพิษณุโลกไปตรวจสอบและทบทวนใหม่ ซึ่งตนจะให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับ มรภ.มหาสารคาม พร้อมกันนี้ ตนยังได้สั่งการให้ อว. ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึงทุกสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ระวังและป้องกันการเกิดทุจริตการขอตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งส่งผลเสียต่อระบบการศึกษาและธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัย.