องค์การสวนสัตว์ (อสส.) ร่วมกับ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ประสบความสำเร็จในการผลิตงานวิจัยผสมเทียมช้างตัวที่ 2 ของประเทศได้สำเร็จ
(24 มค. 62) ณ ห้องประชุม 301 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุริยา แสงพงค์ รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ เป็นประธานการแถลงข่าวประจำสัปดาห์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็น “อสส. จับมือองค์กรพันธมิตร ผลิตงานวิจัยผสมเทียมช้างตัวที่ 2 ของไทยได้สำเร็จ”
จากปัญหาวิกฤติช้างไทย ที่ส่งผลต่อประชากรช้างให้มีจำนวนลดลง โดยปัจจุบัน พบว่า ช้างเลี้ยงในประเทศไทยมีเหลือเพียง 4,719 เชือก และ ช้างป่าอีกประมาณ 3,500 – 4,000 ตัว ยังส่งผลให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญต่อการขยายพันธุ์ช้างในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น
องค์การสวนสัตว์ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการอนุรักษ์และวิจัย จึงเล็งเห็นความสำคัญต่อการอนุรักษ์ช้าง โดยความร่วมมือระหว่าง องค์การสวนสัตว์ โดย ศูนย์นวัตกรรมทางการสืบพันธุ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์และวิจัย สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ร่วมกับ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ภายใต้การดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการวิจัย “ปัจจัยที่มีผลต่อวงรอบการสืบพันธุ์และการพัฒนาวิธีการแช่แข็งน้ำเชื้อช้างเพื่อการผสมเทียม” ซึ่งได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 จนกระทั่งประสบความสำเร็จในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา โดยสามารถผสมเทียมลูกช้างเอเชียเพศเมีย ได้ 1 เชือก ที่เกิดจากช้าง “พังจิ๋ม” ได้ตกลูกช้างในวันที่ 8 ตุลาคม 2561 เวลา 19.50 น. น้ำหนัก 128 กิโลกรัม มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรงทั้งแม่และลูก มีระยะการตั้งท้อง 21 เดือน 12 วัน และถือเป็นลูกช้างที่เกิดจากการผสมเทียมที่มีชีวิตรอด เป็นเชือกที่ 2 ของประเทศไทย
นายสุริยา แสงพงค์ รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ เปิดเผยถึงที่มาของโครงการวิจัยดังกล่าวนี้ เกิดจากแนวคิดในการผสมเทียมช้างที่สวนสัตว์เปิดเขียว จนกระทั่งได้ต่อยอดทำให้โครงการประสบความสำเร็จ และถือเป็นลูกช้างที่เกิดจากการผสมเทียมเชือกที่ 2 ของประเทศไทย โดยความร่วมมือจาก ทั้งสามหน่วยงาน โดยปัจจุบัน ลูกช้างมีอายุ 3 เดือน 16 วัน มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง นิสัยร่าเริง และซุกซน
สำหรับการร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยดังกล่าว ทีมงานวิจัยขององค์การสวนสัตว์ (สวนสัตว์ เปิดเขาเขียว และ สำนักอนุรักษ์และวิจัย) ได้ร่วมกันทำการทดสอบการผสมเทียมในช้างเพศเมีย จำนวน 4 เชือก คือ พังจิ๋มจากสวนสัตว์ดุสิต (ในขณะนั้น) , พังจิ๋ม พังจันทร์เพ็ญ และ พังกรอบทอง จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว โดยเริ่มกันตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 (ระหว่างวันที่ 26-28 ธันวาคม 2559) คณะวิจัย ได้ทำการตรวจประเมินระดับฮอร์โมน พบว่า มีช่วงการตกไข่ในวันดังกล่าว จึงทำการเก็บน้ำเชื้อช้างเอเชีย เพศผู้ ชื่อ “พลายบิลลี่” เพื่อผสมเทียมกับช้างเอเชียเพศเมีย ชื่อ “พังจิ๋ม” จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว 3 วันติดต่อกัน (วันก่อนตกไข่ วันที่ตกไข่ และหลังการตกไข่ 1 วัน) และผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งและน้ำเชื้อ แช่เย็น โดยการใช้กล้องเอนโดสโคป (endoscope) ขนาดความยาว 1.3 เมตร สอดผ่านทางช่องคลอด และน้ำเชื้อใช้กระบอกฉีดยา ขนาด 50 มิลิลิตร เป็นตัวฉีดน้ำเชื้อเข้าท่อผสมเทียมชนิดพิเศษที่สอดผ่าน working channel ของกล้องเอนโดสโคป ปล่อยบริเวณช่องเปิดคอมดลูก (cervix) จนนำมาสู่ความสำเร็จ ที่น่าภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ องค์การสวนสัตว์ ได้จัดแถลงข่าวถึงความสำเร็จการผสมเทียมช้าง ร่วมกับคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการวิจัย นายสุริยา กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลอ้างอิงของ http://www.elephant.se ระบุว่า การเกิดลูกช้างจากการผสมเทียม ไม่เพียงแต่เป็นเชือกที่ 2 ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังถือเป็นเชือกที่ 3 ในระดับเอเชีย ภายหลังจากปรากฏข้อมูลว่า มีช้างเอเชียเพศเมียที่มีการตั้งท้องจากการผสมเทียม ในประเทศแถบเอเชีย มีเพียงสาธารณรัฐประชาชนจีน และ ประเทศไทย ประเทศละ 1 เชือก เท่านั้น
……………………………………………………………………………………………………………………………………………………
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ องค์การสวนสัตว์