วันที่ (24 มกราคม 2562) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง โดยมีศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ข้าราชการ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ ในการนี้ ทรงพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณ จำนวน 105 ราย
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบบังคมทูลรายงานว่า โรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง เดิมชื่อ“ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ ทางการแพทย์ภูมิภาคจังหวัดลำปาง” กระทรวงสาธารณสุขได้อนุมัติ ให้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เป็นหน่วยงาน สังกัดกรมการแพทย์ เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในระดับตติยภูมิ รองรับ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี เพื่อให้ผู้ป่วยและคนพิการ เข้าถึงบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน ทันเวลา และเหมาะสมกับสภาพความพิการเพื่อสร้างเครือข่าย การให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านกายอุปกรณ์ระดับตติยภูมิ และระบบสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการในส่วนภูมิภาค ภายใต้การกำกับดูแล ของสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เมษายน พุทธศักราช 2558 ได้เปลี่ยนชื่อจากศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ภูมิภาคจังหวัดลำปาง เป็นชื่อ “โรงพยาบาลฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ลำปาง” และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช 2560 มีเนื้อที่ 32 ไร่ 1 งาน 5 ตารางวา งบประมาณการก่อสร้าง 340,800,000 บาท เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อ โรงพยาบาลว่า “โรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง” (เวช-ชา-รัก-ลำ-ปาง) ซึ่งหมายถึง โรงพยาบาลที่เป็นสถานที่รักษาทางการแพทย์แห่งจังหวัด ลำปาง และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อโรงพยาบาล เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2561 และเริ่มรับผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561
ทั้งนี้ ผลงานเด่นของโรงพยาบาลเวชชารักษ์ ลำปาง อาทิ ได้จัดทำโครงการพัฒนาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุระยะกลาง (Intermediate Care) ที่มีพ้นวิกฤตและมีอาการคงที่ ให้ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ลดความพิการ โดยสหวิชาชีพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่โรงพยาบาลจนถึงชุมชน โดยภาคเหนือมีคนพิการประมาณ 401,766 คน และผู้สูงอายุ 2,093,071 คน รวมทั้งได้นำร่องพัฒนาศักยภาพเด็กพิการและเด็กที่มีความเสี่ยงต่อความพิการในโรงเรียน 6 แห่ง 6 อำเภอ รวม 55 คน ส่วนใหญ่บกพร่องด้านการเรียนรู้ จำนวน 31 ราย ให้ได้รับการตรวจประเมินโดยแพทย์ และมีทีมนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักกายอุปกรณ์ นักแก้ไขการพูด ให้ความรู้ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ครูและผู้ดูแล และการออกหน่วยกายอุปกรณ์เชิงรุก ค้นหาและฟื้นฟูสภาพคนพิการจากโรคเรื้อนที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตรวจประเมิน 77 ราย ได้รับกายอุปกรณ์ 43 ราย จะดำเนินการต่อให้ครบ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในปีนี้
************************************