นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีการนำพลาสติกมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกน้ำหนักเบาไม่สิ้นเปลืองค่าขนส่ง จึงถูกนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายโดยมีการนำไปใช้ทดแทนวัสดุอื่นๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ ๑๒% ของประมาณปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ ๒ ล้านตัน มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณเฉลี่ยปีละ ๐.๕ ล้านตัน ส่วนที่เหลือ ๑.๕ ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อน อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว เป็นต้น เมื่อใช้แล้วจะถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยหากถูกฝังกลบอยู่ในดินจะใช้เวลาย่อยสลายนานนับร้อยปี ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและพื้นที่ฝังกลบ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดมลพิษทางดิน นอกจากนี้การทิ้งขว้างขยะพลาสติกกระจัดกระจายทั่วไป มักก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำในเมือง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ปัญหาขยะลอยในแม่น้ำ ลำคลอง บางส่วนลงสู่ท้องทะเลส่งผลกระทบต่อแหล่งปะการังและสัตว์ทะเลต่างๆจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากขยะถุงพลาสติก รัฐบาลจึงมีนโยบายรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม เพื่อลดผลกระทบอันเกิดขึ้นจากการใช้ถุงพลาสติกและโฟม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑ โดยมาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ เป็นหนึ่งใน ๕ กิจกรรมภายใต้โครงการฯ ที่ทุกหน่วยงานราชการต้องดำเนินงานพร้อมกันทั่วประเทศ
กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานสนองนโยบายดังกล่าว ได้ประกาศเจตนารมย์เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานทุกจังหวัด เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๒ โดยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจกับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับมาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยกรมพัฒนาที่ดิน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒เพื่อเป็นต้นแบบของหน่วยงานภาครัฐในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ส่งเสริมบทบาทของทุกภาคส่วนในการลดการใช้พลาสติก หูหิ้ว และกล่องโฟมบรรจุอาหาร โดยใช้หลักการ ๓ R ประกอบด้วย ๑. ลดการใช้ (Reduce) โดยลดปริมาณการใช้ลงโดยใช้เท่าที่จำเป็นหลีกเลี่ยงการใช้อย่างฟุ่มเฟือยเพื่อลดการสูญเปล่าและลดปริมาณขยะให้มากที่สุด ๒. การใช้ซ้ำ (Reuse) โดยการนำของเสียบรรจุภัณฑ์หรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้อีกโดยไม่ผ่านขบวนการแปรรูปหรือแปรสภาพ ๓. การนำมาแปรรูปใหม่ (Recycle) เป็นการนำขยะรีไซเคิลหรือวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต หรือเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้บุคลากรทุกหน่วยงานได้ให้ความสำคัญ และให้ความร่วมมือร่วมใจกันร่วมกันดำเนินการคัดแยกขยะมูลฝอยภายในสำนักงาน รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันด้วยการลดใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมบรรจุอาหาร ส่งเสริมให้มีการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก หรือใช้ตะกร้า ปิ่นโต ภาชนะหรือใช้วัสดุธรรมชาติในการใส่อาหาร เพื่อช่วยลดปัญหาขยะล้นเมือง ช่วยลดมลพิษทางดิน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม