นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์วิถีสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมทั้งมอบนโยบายการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ณ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านหนองมัง ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนที่สามารถส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้สำเร็จได้ เช่น มีสถาบันการศึกษาที่สามารถให้การสนับสนุนด้านวิชาการและการบริการด้านเกษตรอินทรีย์ มีผู้ประกอบการที่ดำเนินการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งมีตลาดภายในจังหวัดที่สามารถรองรับผลผลิตได้ ที่สำคัญคือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะเป็นสิ่งสำคัญที่ผลักดันให้จังหวัดอุบลราชธานีประสบความสำเร็จได้ โดยจังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 10 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ5.8 ล้านไร่
ทั้งนี้ การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มีการส่งเสริมและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ให้เป็นรูปธรรม กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2ประกอบด้วย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1,000,000 ไร่ ในปี2564 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยจังหวัดอุบลราชธานี มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 200,000 ไร่ ในปี 2564 พร้อมทั้งได้จัดทำ Road Map การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ภายใต้ยุทธศาสตร์ อุบล – ราชธานีแห่งเกษตรอินทรีย์ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สำหรับการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์วิถีสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเกษตรอินทรีย์เป็นไปตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้กำหนดแนวทางความร่วมมือ ดังนี้ (1) จะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในอำเภอสำโรง จากเดิมตั้งเป้าหมาย 10,000 ไร่ เป็น 30,000 ไร่ ในปี 2564 (2) จะไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ตัดแต่งพันธุกรรม ในการทำการเกษตร (3) ร่วมกันสร้างการรับรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ในการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในอำเภอสำโรง (4) ร่วมกันสร้างเยาวชน คนอำเภอสำโรงรุ่นใหม่ หัวใจอินทรีย์ (5) เผยแพร่ความรู้เกษตรอินทรีย์วิถีสำโรงให้กับผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง (6) สร้างตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้อย่างทั่วถึง (7) สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม เครือข่าย โดยเกษตรกรเป็นผู้ขับเคลื่อน ภาครัฐและภาคประชาสังคมเป็นฝ่ายสนับสนุน (8) ขับเคลื่อนแบบประชารัฐ ระหว่าง ส่วนราชการเกษตรกร และภาคีเครือข่าย เพื่อทำให้อำเภอสำโรง เป็นอำเภอต้นแบบเกษตรอินทรีย์ และ(9) จะร่วมมือกันประชาสัมพันธ์ “เกษตรอินทรีย์ วิถีสำโรง” ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
“เกษตรกรในพื้นที่ อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ได้ขานรับนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งประกาศขอเพิ่มพื้นที่เป้าหมายเกษตรอินทรีย์จากเดิม10,000 ไร่ เป็น 30,000 ไร่ในปี 2564 ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานี มีตลาดภายในจังหวัดที่สามารถรองรับผลผลิตได้ เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียนต่างๆ ที่พร้อมให้การสนับสนุนเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งมีภาคเอกชนที่เป็นเครือข่ายประชารัฐเข้าร่วมผลักดันและพัฒนาผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดทั้งส่งเสริมความรู้ด้านการตลาดให้แก่เกษตรกร สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่เน้นการตลาดนำการผลิต โดยการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางสำคัญในการช่วยเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยอำเภอสำโรง จะเป็นหนึ่งในอำเภอต้นแบบให้กับอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่จะขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป” นายวิวัฒน์ กล่าว
สำหรับผู้ร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ ประกอบด้วย เกษตรกรต้นแบบเกษตรอินทรีย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 9 ตำบล กำนัน 9 ตำบล เกษตรอำเภอสำโรง นายอำเภอสำโรง สาธารณสุขอำเภอสำโรง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสำโรง และบริษัท ประชารัฐ รักสามัคคีอุบลราชธานี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด โดยมี นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเฉลิมพล มั่งคั่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมเป็นสักขีพยาน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบเกียรติบัตรแก่เกษตรกรต้นแบบเกษตรอินทรีย์วิถีสำโรงจำนวน 15 คน พร้อมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการเกษตรอินทรีย์ และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการผลิตพืชผักอินทรีย์ของเกษตรกร ประกอบด้วย โรงเรือนแปลงผลิตหน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม บวบ คะน้า และกำหล่ำปลี ของนายสุรทอน เหมือนมาตย์บ้านโคกสว่าง ตำบลโนนกลาง ,โรงเรือนแปลงผลิตถั่วเขียว มะเขือเทศราชินี สลัด ผักกาดขาวปลี ของนายปิยะทัศน์ ทัศนิยม บ้านโนนกลาง ตำบลโนนกลาง และโรงเรือนแปลงผลิตหอมแดง กระเทียม โรงปุ๋ยอินทรีย์ ธนาคารน้ำหมักชีวภาพ ของนายสำลี บัวเงิน บ้านทุ่งสว่าง ตำบลโนนกลาง
———————————————————