กฟน. เสริมกำลังระบบไฟฟ้า จ.สมุทรปราการ สร้างสถานีคลองด่าน พร้อมอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ใต้ดิน

วันที่ (23 มกราคม 2562) นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมด้วยผู้แทนจาก บริษัท เทด้า จำกัด บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด และ บริษัท ซิโนไฮโดร (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่าง กฟน. กับ The Consortium of TEDA-ITE-STC เพื่อเชื่อมกับอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินขนาดใหญ่ เพิ่มศักยภาพของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชน และเขตอุตสาหกรรมใกล้เคียง ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย

ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน. ในฐานะองค์กรที่ดูแลด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีต้นทางคลองด่าน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมก่อสร้างอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินใหญ่ เพื่อเตรียมความพร้อมตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม บริเวณถนนเทพารักษ์ ถนนบางนา-ตราด และถนนคลองด่าน-บางพลี ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเพื่อเสริมศักยภาพการจ่ายไฟฟ้าของสถานีต้นทางเทพารักษ์ และ สถานีต้นทางบางพลี ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงให้มีความเสถียรภาพ ดังนั้น สถานีต้นทางคลองด่านมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคง และประสิทธิภาพการจ่ายไฟฟ้า ลดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับหรือไฟฟ้าตก รองรับความต้องการ การใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต ไปจนถึงรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจรวมถึงโครงข่ายไฟฟ้าในบริเวณกว้าง ได้เป็นอย่างดี

ในด้านระบบการทำงานของสถานีต้นทางคลองด่าน จะทำหน้าที่รับกระแสไฟฟ้าจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (230 kV) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมทั้งดำเนินการติดตั้งหม้อแปลงชนิด (230/115 kV) เพื่อปรับแรงดันไฟฟ้า และจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ โดยสถานี้แห่งนี้จะตั้งอยู่ภายในซอยเก้าแสน ถนนบางบ่อคลองด่าน มีระยะเวลาก่อสร้าง 1,200 วัน ภายใต้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ กฟน. ยังได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์ขนาด 3.6 เมตร  ระยะทางทั้งสิ้น 2.79 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากสถานีไฟฟ้าต้นทางคลองด่าน มาจ่ายให้กับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด ภายใต้งบประมาณ 950 ล้านบาท โดยจะดำเนินการก่อสร้างควบคู่ไปพร้อมกับการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางคลองด่าน เพื่อให้แล้วเสร็จพร้อมกันโดยเร็วและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ทั้งนี้ ในช่วงการดำเนินการก่อสร้าง กฟน. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พร้อมชี้แจงแผนดำเนินโครงการ ฯ รวมถึงการตั้งบุคลากร และศูนย์ประสานงานสำหรับการรับแจ้งปัญหาการก่อสร้างในพื้นที่อีกด้วย

#พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร

Energy for city life, Energize smart living