วันที่ 26 กันยายน 2564 ด้วยความเมตตาจาก เจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กรมการพัฒนาชุมชน พระนักพัฒนาผู้ให้การสนับสนุนการพัฒนาแปลง “โคก หนอง นา พช.” ตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ เชื่อมประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ สมศักดิ์ สายสินธุ์ชัย ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บันลือ เอมะรุจิ กลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมคณะครู นักเรียน โรงเรียนศรีแสงธรรม และชาวบ้านผู้มีจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมดำเนินกิจกรรมสร้างกุฏิบ้านดินแบบกระสอบดินอัดของวัดป่าศรีแสงธรรม ตลอดจนการวางระบบท่อน้ำเพื่อรดน้ำต้นไม้จากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าร์เซลล์ (Solarcell) ในพื้นที่แปลงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
โอกาสนี้ เจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลีเจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงสนใจและให้ความสำคัญในศึกษาค้นคว้าการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จนได้รับฉายาและร่ำลือจากบุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลายว่า “เจ้าคุณเสียดายแดด” ได้นำคณะฯ เยี่ยมชมแปลงโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) พร้อมเปิดเผยว่า “การทำโคก หนอง นา ของวัดป่าศรีแสงธรรม นั้น มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ และช่วยเหลือชุมชนในยุคโควิด-19 กำลังระบาดไปทั่ว ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเปลี่ยนไป เกิด Disruption ขึ้นมาหลายอย่าง วัดจึงเป็นที่พึ่งพิงพื้นฐานอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ตั้งแต่บูรพกษัตริย์ของไทยเริ่มรวบรวมอาณาเขตมาจนถึงปัจจุบันวัดยังอยู่เป็นศูนย์รวมจิตใจของสาธุชนทุกหมู่เหล่า อีกส่วนหนึ่งคือ โครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง” ซึ่งวัดป่าศรีแสงธรรม ได้ดำเนินการต่อยอดจากการเป็นวิทยากรในฟาร์มตัวอย่างที่ศูนย์ศิลปาชีพยางน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี โดยทางวัดได้แบ่งพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ที่นักเรียนทำนาเป็นประจำทุกปีมาขุดเป็นโคก หนอง นา ซึ่งได้งบประมาณการขุดจากงบพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 50,000 บาท และทางวัดสนับสนุนเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงขุดเพิ่มเติมอีก 300,000 บาท ในเนื้อที่ 20 ไร่ ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2564 มีกิจกรรมที่นักเรียนมาช่วยพัฒนา ปลูกต้นไม้ทุกวันประมาณวันละ 50 คน ระหว่างดำเนินการมีชาวบ้านที่อยู่รอบวัด และคนที่ได้รับผลกระทบการถูกเลิกจ้างงานช่วงโควิด 19 กลับมาจากโรงงานมาทำงานในโครงการประมาณ 23 คน ทางวัดจ้างวันละ 300 บาท นอกจากจะทำงานก่อสร้าง ทำงานเกษตรภายในวัดแล้ว ยังได้สอนการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้กับช่างเพื่อเดินสายไปติดตั้งตามโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือรับจ้างตามโรงงานโดยมีศิษย์เก่าที่จบวิศวะไฟฟ้ากลับมาช่วยงานที่โรงเรียนเป็นทีมงานออกติดตั้งโซล่าร์เซลล์ด้วย”
วัดป่าศรีแสงธรรม ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ณ บริเวณโครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง โดยทีมช่างที่ทางวัดจ้างไว้ได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จพร้อมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งทางวัดได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์อบรมประชาชนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ของกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการที่จังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 11 รุ่น ๆ ละ 100 คน ระยะเวลาการอบรม 4 วัน 5 คืน ซึ่งกิจกรรมการอบรมคณะครูของโรงเรียนทั้งหมดจะเป็นวิทยากร และมีนักเรียนเป็นผู้ช่วยวิทยากร ในช่วงที่ไม่มีการอบรม ทางโรงเรียนก็จัดให้มีการเรียนการสอนเป็นชุมชุมฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน และได้บูรณาการเข้าใน 8 กลุ่มสาระวิชาเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น กระทั่งล่าสุดได้ขุดแปลงโคก หนอง นา พช. แปลง CLM อีก 15 ไร่ ภายในวัด โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน และทหารหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 อำนาจเจริญ ใช้เวลา 10 วัน และมีงบประมาณสนับสนุนจ้างแรงงานมาช่วยในแปลงอีก 8 คน เป็นเวลา 3 เดือน จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาแบบร่วมมือกัน “บวร” คือบ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ในพื้นที่ 15 ไร่ ภายในวัดป่าศรีแสงธรรม ทำให้มีบ่อน้ำจำนวน 6 บ่อ นอกเหนือจากบ่อเดิมของวัดซึ่งมีอยู่แล้ว 1 บ่อ รวมเป็น 7 บ่อ ส่วนบริเวณรอบบ่อ จะมีไม้ผล และพืชผักสวนครัวระหว่างต้นไม้ ส่วนริมคลองไส้ไก่ หรือที่อยู่ในพื้นที่ร่ม ก็ปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้าน และสมุนไพรที่จำเป็น ซึ่งอาคารฐานการเรียนรู้ทั้ง 9 หลัง จะมีกิจกรรมการให้ความรู้ อบรมประชาชน หรือรองรับประชาชนมาพักในบริเวณแปลงทางวัดได้ โดยออกแบบอาคารขนาด 8 x 7 เมตร ตั้งคู่กัน โดยเว้นช่องห่าง 3 เมตร เป็นฐานการเรียนรู้แฝด 9 ฐานการเรียนรู้ กำลังจะดำเนินการก่อสร้างโดยชาวบ้านที่ทำงานประจำในวัดเพราะเป็นช่างฝีมือ ทำงานก่อสร้างได้ระหว่างรองานติดตั้งโซลาร์เซลล์ และยังได้ทำบ้านดินเป็นฐานการเรียนรู้จริงเพื่อเป็นที่พักรับรองอีก 1 หลังพึ่งจะเริ่มดำเนินการและยังมีนักเรียนเข้ามาช่วยในชั่วโมงจิตอาสาในการสร้างบ้านดินแบบกระสอบดิน
นอกจากนั้น ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาต่อยอดลงในแปลงอันเป็นผลจากการจัดการเรียนการสอนภายในห้องเรียนที่โดดเด่นในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ และยังได้มีการใช้ระบบการควบคุมสั่งการผ่านมือถือเข้ามาช่วยเพื่อลดค่าใช้จ่ายในแปลง เช่น จ้างคนดูแลรดน้ำต้นไม้ในหน้าแล้งวันละ 300 บาท 5 คน ก็เดือนละ 30,000 บาท หากวางระบบท่อ วางระบบโซลาร์เซลล์ และใช้โปรแกรมควบคุมสั่งการอัตโนมัติด้วยความชื้นในดิน หรือใช้ Timer มาเปิดปิดน้ำเอง ก็จะประหยัดไปได้เยอะ เพราะการทำโคกนั้นย่อมอยู่ที่สูง ถ้าปลูกป่าแล้วต้นไม้ต้องการน้ำ เราขุดหนองก็อยู่ที่ต่ำ หากจะวางคลองไส้ไก่เข้าไปให้ความชุ่มชื้นปริมาณน้ำย่อมไม่เพียงพอ ถ้าปล่อยไว้ไม่รดน้ำต้นไม้คงเดินลงไปกินน้ำไม่ได้แน่ ไหนๆ เราก็มีความรู้อยู่แล้วเพราะเด็กสามารถต่อปั๊มน้ำเองได้ เขียนโปรแกรมเองได้ เพียงแต่เราสนับสนุนอุปกรณ์ก็ย่อมจะเป็นการต่อยอดเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ขึ้นไปอีกขั้น นี่เพียงตัวอย่าง ของจริงมีมากกว่านี้ การทำกสิกรรมที่ไม่พึ่งพาธรรมชาติ เพียงอย่างเดียวรู้จักกักน้ำไว้ใช้ แต่ไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นกสิกรรมธรรมชาติและเทคโนโลยีรวมกันอยู่ที่นี่
ท้ายที่สุด เจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี ยังได้กล่าวอำนวยอวยพรแด่ รองศาสตราจารย์สมศักดิ์ สายสินธุ์ชัย อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บันลือ เอมะรุจิ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้เดินทางมาช่วยเตรียมวางท่อระบบการรดน้ำต้นไม้ในพื้นที่ “โคก หนอง นา พช.” แปลง CLM พื้นที่ 15 ไร่ ว่า “พื้นที่แห่งนี้ มีการขุดหนองเอาดินมาทำโคก 6 หนอง และคลองไส้ไก่เป็นทางส่งน้ำ เพื่อเก็บความชุ่มชื้นไว้ใต้ดินไว้รอบคลอง ส่วนรอบหนองเป็นโคก เป็นที่ยกระดับดินปลูกผืชผักผลไม้ พืชผักสวนครัว ป่าไม้ 5 ระดับได้อย่างดี เกษตรแบบดั้งเดิมที่ยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะใช้คลองไส้ไก่ส่งนำเข้าไปเลี้ยงต้นไม้ที่มีรากหยั่งลึกในใต้ดิน แต่ถ้าปลูกใหม่รากยังไม่ลึกลงไปในดิน หรือพืชเตี้ย พืชผักที่รากอยู่บนดินจะต้องอาศัยคนไปรดน้ำ ไม่อย่างนั้นไม้เราจะแห้งตาย แม้ปลูกไว้ริมสระต้นมะพร้าวยังแห้งตาย ถ้าหากจ้างแรงงานมาช่วยวันละ 300 บาท 5 คน เดือนละ 45,000 บาท อาจจะรดน้ำไม่ทั่วก็ได้ เพราะแปลงใหญ่ แต่ถ้าลงทุนวางระบบท่อน้ำในแปลงประมาณ 50,000 บาท และติดตั้งปั๊มน้ำโซล่าร์เซลล์อีก 28,000 บาท ค่าใช้จ่ายยังไม่เท่าจ้างคนมารดน้ำเลย แต่ถ้ารวยก็ทำได้เหมือนเกษตรย้อนยุค ทำนาทำสวนในนี้ไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยี แล้วจะมีเงินจ้างไหมคือคำถามต่อไป บริบทของเราเป็นอย่างนี้ มีต้นไม้เยอะ มีกิจกรรมให้นักเรียนและคนในชุมชนได้มาร่วมบ่อย ๆ แต่ไม่ประจำ ยังไงปัญหาการรดน้ำต้นไม้ก็ต้องมีแน่นอน ถ้าเราต้องการผลผลิต วันนี้จึงวางระบบท่อน้ำ พร้อมรองรับการควบคุมสั่งการผ่านมือ แทนที่จะใช้คนไปเปิดปิดน้ำ แต่เราใช้แอพลิเคชั่น เปิดปิดเอาตามความชื้นของดิน หรือบางจุดให้น้ำตามเวลาก็ใช้ Timer เข้ามาช่วยเปิดปิดปั๊มน้ำให้ อย่างนี้โคก หนอง นา แบบก้าวหน้าก็จะเกิดการต่อยอดไปทั้งวงการศึกษา เช่น โรงเรียนศรีแสงธรรม เขียนโปรแกรมควบคุมเองได้ ต่อโซลาร์เซลล์ใช้เองได้ จึงไม่มีปัญหากับเทคโนโลยี ทั้งนี้ ให้เกิดการเรียนรู้และสามารถสอนรุ่นต่อรุ่น ถ่ายทอดให้ประชาชนที่สนใจให้นำไปใช้ได้อีกด้วย ถึงแม้จะอยู่บ้านนอกห่างไกลศูนย์กลางความเจริญของประเทศเกือบ 1 พันกิโล แต่เราไม่ได้ห่างพระอาทิตย์มากไปกว่าคนอื่นเลย” เจ้าคุณเสียดายแดด กล่าวปิดท้าย
#WorldSoilDay
#GlobalSoilPartnership
#UNFAO
#กรมการพัฒนาชุมชน
#CDD
#SEPtoSDGs
#SDGforAll@Kmitl
#WorldSoilDayCDD
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี.. ภาพข่าว/รายงาน