วันที่ (23 กันยายน 2564) – นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาด้านความมั่นคงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) เพื่อส่งเสริมการนำองค์ความรู้ด้านวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และความชำนาญด้านนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. มาร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศในวิกฤตการณ์ต่างๆ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันประเทศในระยะยาว
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า ปตท. ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สานต่อโครงการประชารัฐของรัฐบาลในการผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยการนำเอาความรู้ ความชำนาญด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท. มาผนวกกับองค์ความรู้ด้านวิชาการของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาของประเทศในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมเตรียมต่อยอดสู่การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อบริหารจัดการภาวะวิกฤตด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศในระยะยาว โดยความร่วมมือครั้งนี้ ปตท. และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะร่วมกันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย การพัฒนาหน้ากากผ้าที่สามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และฝุ่น PM 2.5 โดยใช้วัตถุดิบจากปิโตรเคมี ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดเชื้อแบคทีเรียได้สูงถึง 99.98% และป้องกันอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน (µm) ได้ถึง 84% ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึง การพัฒนาระบบ AI CCTV มาใช้บริหารจัดการพื้นที่เพื่อควบคุมระยะห่างของบุคคลในสถานประกอบการกลุ่ม ปตท. พร้อมระบบแจ้งเตือนหากพบผู้ที่ไม่สวมใส่หน้ากาก นอกจากนี้ ยังจะร่วมพัฒนาระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อโควิดภายในอาคาร การนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาขยะติดเชื้อ และการดัดแปลงถัง NGV มาปรับใช้บรรจุออกซิเจน เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดการขาดแคลนถังออกซิเจนภายในประเทศในอนาคตอีกด้วย ซึ่ง กลุ่ม ปตท. พร้อมนำความรู้และความเชี่ยวชาญมาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทยทั้งในยามปกติและในภาวะวิกฤตต่างๆ ให้เราทุกคนก้าวผ่านปัญหาและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในส่วนความร่วมมือด้านวิชาการ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ จะร่วมกับ ปตท. เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการสถานการณ์สำหรับสาธารณูปโภคสำคัญ (Critical Infrastructure Management) โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่ระบบต่างๆของภาคส่วนพลังงานและระบบขนส่งมวลชนระบบราง เช่น การพัฒนาระบบจำลองสถานการณ์ (Simulator) สำหรับการฝึกแก้ไขเหตุการณ์วิกฤตในพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมไปถึงการบูรณาการองค์ความรู้ในการบริหารจัดการกรณีเหตุสารเคมีและวัตถุอันตรายรั่วไหล เช่น น้ำมันรั่ว หรือไฟไหม้ นอกจากนั้นทางหลักสูตรยังมีการริเริ่มโครงการการประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การพึ่งพาตนเองในระยะแรกเพื่อการผลิตวัสดุอุปกรณ์จากวัสดุปิโตรเคมีในประเทศสำหรับงานด้านความมั่นคงทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ชุดป้องกันสารเคมี เชื้อโรค เกราะกันกระแทก ที่พักฉุกเฉิน เชือกสายเคเบิล ทั้งนี้เพื่อเตรียมการรองรับปัญหาภัยคุกคามและภัยธรรมชาติ ที่ในอนาคตจะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งสองงานนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีการประสานกันอย่างใกล้ชิดกับทีมงานของ ปตท. เพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคน นอกจากนี้ยังจะมีการผลิตและอบรมเพิ่มพูนความรู้ร่วมกันสำหรับนิสิตและบุคลากรของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย