วันที่20 กันยายน 2564 ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเป็นวิทยากรผ่านระบบการประชุมทางไกล ในงาน The Concluding Event of the OECD Thailand Country Programme ซึ่งเป็นงานเผยแพร่การดำเนินโครงการภายใต้ Country Programme จัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
OECD-Thailand Country Program เป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทยและ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) มีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2564) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ใน 4 เสาหลัก ได้แก่ 1) ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส (Governance & Transparency) 2) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน (Business Climate & Competitiveness) 3) ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) และ 4) การเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth)
ซึ่ง สอวช. ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว ในเสาที่ 3 ประเทศไทย 4.0 เพื่อรายงานข้อมูลวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ของประเทศไทย ใน EC-OECD STI Policy Compass และจัดทำการศึกษาสถานภาพและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ Biorefinery ในระดับเล็กของประเทศไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นระเบียบวาระแห่งชาติที่รัฐบาลกำลังผลักดันเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
การประชุมนี้ ประกอบไปด้วย การหารือทวิภาคีระหว่าง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับ นาย Mathias Cormann เลขาธิการ OECD การนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดำเนินโครงการภายใต้ Country Program และการสรุปโครงการและผลการดำเนินงาน
ในช่วงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากโครงการ Country Programme นั้น ดร.กาญจนา ได้กล่าวถึงการรายงานข้อมูล วทน. ของประเทศไทย ใน EC-OECD STI Policy Compass ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และได้นำเสนอผลจากรายงานเรื่อง Guidance for a biorefining roadmap for Thailand ซึ่งเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีขนาดเล็กในระดับชุมชน โดยเกษตรกรสามารถส่งชีวมวลในท้องถิ่นให้เป็นวัตถุดิบที่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงกว่าการขายพืชผลเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ในรายงานยังได้ระบุมาตรการเชิงนโยบายหลายประการ โดยได้อธิบายถึงมาตรการทั่วไปในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี และมาตรการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับประเทศไทย สำหรับข้อเสนอมาตรการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับประเทศไทย ได้แก่ การเพิ่มการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางนโยบายและการแลกเปลี่ยนความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ขณะเดียวกัน การปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ก็เป็นประเด็นสำคัญ เช่น การจัดผังเมือง การจัดสรรส่วนแบ่งกำไรกับเกษตรกร การบริหารการใช้สอยที่ดิน และการสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานสาธิตหรือโรงงานต้นแบบในพื้นที่ EEC เป็นต้น
ติดตามรายละเอียด EC-OECD STI Policy Compass ได้ที่ https://stip.oecd.org/stip.html
รายงานเรื่อง Guidance for a biorefining roadmap for Thailand สามารถดาวน์โลดได้ที่
https://www.oecd.org/fr/innovation/guidance-for-a-biorefining-roadmap-for-thailand-60a2b229-en.htm